วิกฤตออกซิเจนในโรงพยาบาลอียิปต์เกิดจากรัฐบาลไม่ชำระหนี้ค่าเวชภัณฑ์มูลค่า 128 ล้านดอลลาร์ แหล่งข่าวจา…
WHITEINFO : ชิคุนกุนยา ภัยร้ายจากฤดูฝน
ช่วงหน้าฝนต้องระวัง! ภัยร้ายจากยุงลาย
เสี่ยง “ชิคุนกุนยา” โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
.
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากเชื้อไวรัส Chikungunya Virus โดยมียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ ยุงลายบ้าน และยุงลายสวน
ซึ่งอาการโรคชิคุนกุนยา มักมีดังนี้
– มีไข้
– เจ็บปวดตามข้อ เช่น นิ้วมือ ข้อเข่า ข้อศอก
– ตาแดง
– มีผื่นขึ้นทั่วตัว
ในบางรายอาจมีอาการวปวดข้ออยู่นานเป็นเดือน จึงกลับหายเป็นปกติ
.
โรคชิคุนกุนยาเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการระบาดค่อนข้างมากในปัจจุบันและการแพร่ระบาดสามารถติดต่อผ่านทางยุง ซึ่งคล้ายกับโรคไข้เลือดออก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรทราบอาการของโรค วิธีการป้องกันเพื่อเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด
“ชิคุนกุนยา” เป็นภาษามากอนดี หมายถึงอาการงอตัว สื่อถึงอาการของโรคชิคุนกุนยาที่มักแสดงออกด้วยอาการปวดข้อจนตัวงอ โรคชิคุนกุนยาเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถติดต่อได้จากยุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปยังทวีปแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อินเดีย และแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ครั้งแรกที่พบเชื้อไวรัสก่อโรคชิคุนกุนยาคือปี พ.ศ. 2556 ซึ่งพบในทวีปอเมริกาที่หมู่เกาะแคริบเบียนและในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?
โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อได้หลายทางด้วยกัน ได้แก่
- ติดต่อผ่านยุงลายสวนและยุงลายบ้านที่มีเชื้อไวรัสนี้จะแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังคนถัดๆ ไปที่ถูกยุงกัด
- ติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อไปยังทารกในระยะแรกคลอด
- ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การให้หรือรับเลือดที่มีเชื้อไวรัส
ตามทฤษฎีแล้วไวรัสชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านมารดาไปยังทารกและผ่านทางเลือดได้ แต่ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านทั้งสองทางนี้
อาการของโรคชิคุนกุนยามีอะไรบ้าง?
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโดยมากมักมีอาการเกิดขึ้น 3-7 วันหลังจากถูกยุงกัด โดยอาการหลักของโรคชิคุนกุนยาคือมีไข้และปวดบริเวณข้อ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้คือ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม และมีผื่นแดงขึ้นบริเวณลำตัว โดยทั่วไปมักมีอาการดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ยกเว้นอาการปวดบริเวณข้ออาจมีอาการนานเป็นเดือนได้ และโดยทั่วไปโรคชิคุนกุนยาไม่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเสียชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
โรคชิคุนกุนยารักษาได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคชิคุนกุนยา การรักษาโรคชิคุนกุนยาจึงใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน (aspirin) หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDS) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก
- หากมียาเดิมที่ใช้รักษาโรคร่วม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อติดตามอาการและการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
- ป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดในสัปดาห์แรกที่ได้รับเชื้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถพบได้ในเลือดและส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อโดยมียุงเป็นพาหะในช่วงเวลาดังกล่าว
โรคชิคุนกุนยาป้องกันอย่างไร?
การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การป้องกันการถูกยุงกัด และควรมีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสม่ำเสมอ เช่น บริเวณน้ำที่ยุงอาจไปวางไข่ รวมถึงทำความสะอาดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
การป้องกันสำหรับทารกและเด็ก
- สวมใส่เสื้อผ้าแก่ทารกและเด็กให้มิดชิด
- ฉีดสเปรย์กันยุงให้เด็ก ยกเว้นในกรณีที่เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ไม่ควรฉีดสเปรย์กันยุง
- ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่ประกอบด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส หรือพาราเมนเทนไดออล (para-menthane-diol) ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี
การป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป
- สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
- ในกรณีที่เป็นสเปรย์ป้องกันยุงที่ไม่ใช่สำหรับฉีดบริเวณตัว ไม่ควรฉีดสเปรย์ป้องกันยุงให้ถูกผิวหนังโดยตรง
- หากจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อนแล้วจึงใช้สเปรย์กันยุง
- ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท หากเป็นไปได้ควรใช้เครื่องปรับอากาศแทนการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
ที่มา : bumrungrad.com