หน่วยงานสหประชาชาติ 4 แห่ง ได้แก่ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) , โครงการอาหารโลก (WFP) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน ในพื้นที่ควบคุมโดยรัฐบาลเยเมนเพิ่มขึ้น 34% ในปี 2024 โดยเฉพาะในชายฝั่งตะวันตกที่ถึงระดับวิกฤตอย่างยิ่งเป็นครั้งแรก กระทบต่อเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกว่า 600,000 คน รวมถึงเด็ก 120,000 คนที่มีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันรุนแรง
สาเหตุหลักของปัญหานี้มาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การระบาดของโรค (โดยเฉพาะอหิวาตกโรคและหัด) ความไม่มั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดที่จำกัด และการถดถอยทางเศรษฐกิจ หน่วยงานสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสนับสนุนจากนานาชาติอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงระบบคุ้มครองทางสังคม สุขภาพ อาหาร น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย
พร้อมเน้นย้ำว่าการยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาเกือบทศวรรษ และการฟื้นฟูสันติภาพเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาระยะยาว แม้ว่าเยเมนจะมีความสงบขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายและกลุ่มฮูษี่ ซึ่งควบคุมหลายจังหวัดรวมทั้งเมืองหลวงกรุงซอนอะฮฺ ตั้งแต่ปี 2014 ยังคงดำเนินอยู่ ส่งผลให้ประชาชนเยเมนได้รับความเสียหายจากการขาดบริการพื้นฐาน การพลัดถิ่นซ้ำซาก และระบบเศรษฐกิจและสังคมที่พังทลาย