White Channel

คณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ 8 พรรคร่วมรัฐบาล คัดค้าน ไม่เห็นด้วยข้อเสนอนักศึกษา แบ่งแยกรัฐปัตตานี

POLITICS : คณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ 8 พรรคร่วมรัฐบาล คัดค้าน ไม่เห็นด้วยข้อเสนอนักศึกษา แบ่งแยกรัฐปัตตานี ห่วงเพิ่มความขัดแย้ง พรรคก้าวไกล แนะ ลดกลไกทหารลง ให้มีพื้นที่แสดงความเห็น กระจายอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น ยังไม่ชัดยุบ กอ.รมน.หรือไม่ เตรียมนัดหารืออีกรอบ 19มิ.ย.
.
วันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่พรรคก้าวไกล คณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาลว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้ ปาตานี ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของพรรคร่วมรัฐบาลมีการประชุมนัดแรกที่พรรคก้าวไกล มีตัวแทนจาก 8 พรรคร่วมมาอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย
.
นายรอมฎอน เปิดเผยหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการวางกรอบการทำงาน ระดมความเห็นแต่ละพรรคในเบื้องต้น การตั้งสมมุติฐานของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่ยังมีความคับข้องหมองใจ รวมถึงการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เราคุยกรอบกว้างที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ ครั้งหน้าจะลงลึกรายละเอียด จะวางกรอบสร้างสันติภาพ ตอบสนองแนวนโยบายอย่างไรให้กับประชาชน โดยนัดหารือที่พรรคประชาชาติ วันที่ 19 มิถุนายน ที่ประชุมยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหา อาจต้องลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือน โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร
.
นายรอมฎอนกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงกรณีเปิดตัวขององค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยสัมผัสได้ว่ามีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่เรายังยืนอยู่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยว ที่มองไปข้างหน้าและจะกระจายอำนาจ ให้อำนาจกับประชาชนท้องถิ่นมากขึ้น
.
“ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี หรือ ปาตานี เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น การพูดคุย รับฟังความเห็นต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่านี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง และต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ไปเผชิญปัญหา แต่สิ่งที่กังวลคือ เรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา”นายรอมฎอนกล่าว
.
ส่วนการพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงนั้น หน่วยงานความมั่นคงก็เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว จะต้องมีการพูดคุย แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม
.
สำหรับแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น ในวงประชุมยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ถึงแนวทางดังกล่าวแต่ในภาพใหญ่ก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือการสนทนากับคู่ขัดแย้ง ซึ่งวิธีการของรัฐบาลใหม่ เราจะสร้างความแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ส่วนความชัดเจนในการยุบ กอ.รมน. นั้น เรื่องนี้ยังต้องมีการพูดคุยในคณะทำงาน และต้องเป็นฉันทามติร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
.
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ถ้าเป็นการทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชน และไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ
.
โพสต์ทูเดย์

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ