White Channel

ประวัติศาสตร์ไทย FakeNews อ้างว่าพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย แผ่อำนาจควบคุมตลอดแหลมมลายู

SOCIAL : ประวัติศาสตร์ไทย FakeNews อ้างว่าพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย แผ่อำนาจควบคุมตลอดแหลมมลายู และรวมทั้งรัฐปัตตานี ซึ่งไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ
.
บทความโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2545
.
เยาวชนคนรุ่นใหม่มีปัญหาทางความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของไทย ดังนี้
(1.) ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องแท้จริง
(2.) รู้แต่เฟกนิวส์
.
เหล่านี้เป็นความเห็นของนักประวัติศาสตร์อาวุโส จะคัดจากข่าวที่พบในสื่อโซเชียล ดังนี้
.
“ประวัติศาสตร์ทำให้คนไทยเกิดความสำนึกรู้รักกตัญญูในแผ่นดินเกิด
การรู้จักกตัญญูในแผ่นดินเกิดก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าต้องทำให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองไม่ใช่มาทำกิจกรรมแบบเยาวชนบางส่วนที่ทำให้รู้สึกว่ามันน่าเศร้าใจ เพราะเขาไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องแท้จริง”
.
“คนรุ่นใหม่บางพวกรู้แต่ Fake News แล้วตีความด้านเดียว”
.
ในเนื้อข่าวไม่ได้บอกว่า “ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องแท้จริง” เป็นอย่างไร? และประวัติศาสตร์ “เฟกนิวส์” เป็นแบบไหน?
.
แท้จริงแล้วประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องเรื่องความถูกต้อง หรือใกล้เคียงความถูกต้องเสมอมา เช่น คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? เป็นต้น
.
แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เคยชี้แจงอธิบาย หรือปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี มีแต่ควบคุมบังคับถึงขั้นขู่เข็ญให้เชื่อตามตำรา “แห่งชาติ” ใครไม่เชื่อถูกใส่ร้ายไม่รักชาติ ไม่รักศาสนา และไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์
.
ครั้นนักค้นคว้านักวิชาการรุ่นใหม่เสนอข้อมูลหลักฐานใหม่ แต่ชนชั้นนำและนักวิชาการกระแสหลักไม่รับรู้ และไม่มีหลักฐานหักล้าง
.
เยาวชนรุ่นใหม่รู้ข้อมูลหลากหลาย แล้วตัดสินใจเชื่อถือข้อมูลใหม่ แนวคิดใหม่ ซึ่งตรงข้ามกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก บรรดานักประวัติศาสตร์อาวุโสไม่พอใจ พากันกล่าวร้ายป้ายสีเยาวชนคนรุ่นใหม่ตามที่ยกมา
.
นักประวัติศาสตร์อาวุโสกับเยาวชนคนรุ่นใหม่มีประวัติศาสตร์คนละสำนวน มีข้อมูลคนละอย่าง และมีแนวคิดคนละชนิด ที่นักประวัติศาสตร์อาวุโสควรพิจารณาว่าในโลกนี้ไม่มีประวัติศาสตร์ถูกต้องแท้จริง แม้พระไตรปิฎกยังต้องสังคายนาหลายครั้ง
จะยกกรณีตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
.
(1.) ประวัติศาสตร์กระแสหลักใส่ร้ายการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ว่าคณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม”
แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่พบหลักฐานในหอสมุดแห่งชาติและจากท้องถิ่นทั่วไทยว่าราษฎรจำนวนไม่น้อยเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตยมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ดังนั้นหลัง 24 มิถุนายน 2475 จึงแสดงความชื่นชอบด้วยการสร้างอนุสรณ์สถานรูปแบบต่างๆ จำนวนไม่น้อย เป็นพยานแสดงว่า “ห่าม” มานานแล้ว แต่ถูกกดทับไม่ให้ “สุก”
.
(2.) “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” อยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุน
นักประวัติศาสตร์โบราณคดีรุ่นใหม่ซึ่งตรงข้ามกระแสหลัก พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีหนักแน่นว่าอโยธยามีความเป็นมาเก่าแก่กว่าสุโขทัย และอโยธยาอุดหนุนผลักดันให้เกิดสุโขทัยเป็นเครือข่ายทางการเมืองและการค้า
แต่เรื่องนี้ถูกรัฐราชการรวมศูนย์กดทับ-ด้อยค่าอโยธยา เพราะต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก
.
(3.) ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอกว่าพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย แผ่อำนาจควบคุมตลอดแหลมมลายู และรวมทั้งรัฐปัตตานี ซึ่งไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ
การค้นคว้าของนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ พบว่าสุโขทัยเป็นรัฐขนาดเล็กที่มีดินแดนทางทิศใต้สุดแค่เมืองพระบาง (จ.นครสวรรค์) ต่ำจากนั้นเป็นดินแดนในอำนาจของรัฐละโว้, รัฐสุพรรณภูมิ ส่วนบริเวณแหลมมลายูเป็นดินแดนของรัฐปัตตานีกับรัฐไทรบุรี
หลังจากนั้นอีกนานมาก รัฐปัตตานีถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามเมื่อกรุงเทพฯ แผ่นดิน ร.1 ยกทัพลงไปตีได้ปัตตานี
.
(4.) ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอกว่ากรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2310 เพราะ “คนไทยขาดความสามัคคี”
นักประวัติศาสตร์ฝ่ายตรงข้ามกระแสหลัก พบว่ากรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2310 เพราะความล่มสลายของระบบราชการ (ก่อนเสียกรุง) ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดของชนชั้นนำสมัยนั้น
.
(5.) นักประวัติศาสตร์กระแสหลักสถาปนามาตรฐานการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าหลักฐานชั้นต้น หรือหลักฐานปฐมภูมิเป็นสิ่งสำคัญมาก เรียก Primary source เชื่อถือได้อย่างยิ่ง ส่วนหลักฐานอื่นๆ ก็ได้รับความเชื่อถือรองลงไป
.
นักประวัติศาสตร์โบราณคดีกลุ่มตรงข้ามเห็นว่าหลักฐานทุกประเภทต้อง “ตรวจสอบ” และ “ประเมินค่า” ก่อนใช้งานเหมือนกันทั้งหมด ไม่ยกเว้นไม่ว่าปฐมภูมิ, ทุติยภูมิ, ตติยภูมิ
.
ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอกว่าศิลาจารึกเป็นหลักฐานชั้นต้น หรือปฐมภูมิที่เชื่อถือได้อย่างไม่สงสัย
แต่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีกลุ่มตรงข้าม เห็นว่าจารึกเป็นงานของราชการเพื่อสรรเสริญผู้สั่งให้ทำจารึก (เหมือนข่าวกรมประชาสัมพันธ์) เชื่อถือทั้งหมดไม่ได้
.
จารึกพ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัย พบพิรุธจำนวนมากที่เป็นพยานว่าทำสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.3
.
มติชน

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ