รัฐยะไข่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง – White Channel

White Channel

รัฐยะไข่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง

WORLD : รัฐยะไข่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังกองทัพอาระกันพุทธปะทะกับทหารมุสลิมโรฮิงญา ในเมืองบูตีด่อง มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับสิบ เผย 2 ฝ่ายเคยตกลงหยุดยิงกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นักการเมืองท้องถิ่นคาดกองทัพโรฮิงญาต้องการสร้างสถานการณ์วุ่นวาย เพราะยะไข่เป็นรัฐเดียวที่สงบเงียบมาตลอดตั้งแต่ปลายปี 2563

.

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา Western News รายงานว่าสถานการณ์ภายในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า ได้กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อได้เกิดการสู้รบกันขึ้นระหว่างทหารกองทัพอาระกัน (Arakan Army) หรือ AA กับทหารของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army) หรือ ARSA หลังจากที่ทั้ง 2 กองทัพได้เคยตกลงกันไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วว่าจะไม่ยิงกันเอง

.

การปะทะกันระหว่างทหาร AA กับทหาร ARSA เริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณ10.00 น. บนเทือกเขามะยุ ทางตอนใต้ของอำเภอบูตีด่อง จังหวัดหม่องดอเสียงปืนที่ 2 ฝ่ายสาดกระสุนเข้าใส่กันดังสนั่น สร้างความแตกตื่น ตกใจ และหวาดกลัวแก่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามพื้นราบเชิงเขา จนไม่มีใครกล้าออกนอกบ้าน

.

สื่อในรัฐยะไข่ทุกสำนักไม่สามารถยืนยันได้ว่า การสู้รบของทั้ง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นจากสาเหตุใด อย่างไรก็ตาม ทุกสื่อต่างรายงานตัวเลขตรงกันว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจากการปะทะกันครั้งนี้ โดยเบื้องต้น ฝั่ง ARSA มีทหารเสียชีวิตอย่างน้อย 10 นาย ขณะที่ทหาร AA เสียชีวิต 3 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ของ ARSA หลายรายการถูก AA ยึดไว้ได้

.

มีรายงานว่า ขณะนี้ทั้ง AA และกองทัพพม่า ได้เสริมกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ สร้างความหวั่นวิตกแก่ชาวบ้านว่าสถานการณ์สู้รบอาจยืดเยื้อรุนแรง

.

สำนักข่าว Development Media Group (DMG) สัมภาษณ์ อู เผ่ตาน นักการเมืองท้องถิ่นในรัฐยะไข่ ซึ่งได้บอกว่า ARSA มีความเกลียดชังทั้งกองทัพพม่าและ AA เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การสู้รบที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากความต้องการสร้างสถานการณ์วุ่นวายให้เกิดขึ้นภายในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นรัฐชาติพันธุ์ที่สงบเงียบมาตลอด นับตั้งแต่ AA ตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่าเมื่อปลายปี 2563

.

AA เป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวยะไข่พุทธ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน2552 มีนายพลทุนเมียตไหน่ เป็นผู้บัญชาการ เป้าหมายของ AA คือเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง สิทธิในการดูแล จัดการผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และลดบทบาทกับอิทธิพลของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่

.

AA เริ่มเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับกองทัพพม่าเมื่อปลายปี 2561 พื้นที่สู้รบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของรัฐยะไข่ต่อเนื่องขึ้นไปถึงตอนใต้ของรัฐชิน โดยเฉพาะในเมืองปะแลตวะ ติดชายแดนบังกลาเทศและอินเดีย แต่หลังจากสู้รบกันดุเดือดได้ 2 ปี ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 AA กับกองทัพพม่าได้ตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการกันครั้งแรก

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 AA กับกองทัพพม่าได้กลับมารบกันใหม่ หลังเกิดเหตุเครื่องบินรบกองทัพพม่าทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหาร AA ที่ถูกส่งไปฝึกร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ในพื้นที่จังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ทำให้ทหาร AA เสียชีวิต 6 นาย แต่การรบรอบใหม่ดำเนินไปได้ 4 เดือน ปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้ง 2 ฝ่ายก็ตกลงหยุดยิงกันอีกครั้ง

.

ส่วน ARSA เป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่เริ่มรวมตัวกันหลังเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวโรฮิงญากับประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2555 ต่อมา ในปี 2556 ชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งได้จับอาวุธจัดตั้งเป็นกองกำลังใช้ชื่อช่วงแรกว่า Harakah al-Yaqin ที่แปลว่า “ขบวนการศรัทธา” ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ARSA ในเดือนตุลาคม 2559

.

ปฏิบัติการโจมตี สังหารทหารพม่าของ ARSA ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายครั้งตั้งแต่ปี 2559 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลพรรค NLD ของพม่า ที่มีอองซานซูจี เป็นแกนนำ ต้องทุ่มเทสรรพกำลังเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงในปี 2560 จนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคน ต้องอพยพลี้ภัยข้ามไปอยู่ในฝั่งบังกลาเทศ และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลพม่าถูกฟ้องในศาลโลกในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2562

.

พื้นที่ปฏิบัติการของ ARSA อยู่ในเขตอำเภอบูตีด่อง จังหวัดหม่องดอ อำเภอระเตด่อง จังหวัดซิตต่วย และตามพื้นที่ชายแดนพม่า-บังกลาเทศ รวมถึงพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนาฟ ในเขตบังกลาเทศ เดือนสิงหาคม 2560 รัฐบาลพรรค NLD ได้ขึ้นบัญชี ARSA ให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย และในปี 2562 ARSA กับ AA ได้มีข้อตกลงว่าจะไม่สู้รบกันเอง การปะทะที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงเป็นการล้างข้อตกลงที่ 2 ฝ่ายเคยทำกันไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วลงไปโดยปริยาย.

.

ผู้จัดการออนไลน์

#ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ