White Channel

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 6 สว.โหวต เห็นชอบ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

POLITICS : เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 6 สว.โหวต เห็นชอบ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า จากการย้อนไปตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภา ที่ยื่นไว้ตั้งแต่ 24 พ.ค. 2562 หลายราย พบว่า มี 6 ราย ที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า บัญชีที่ยื่นไว้นั้นเข้าข่ายตามความใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และมีการนำรายได้ที่แจ้งหรือไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากรโดยถูกต้องหรือไม่ โดยทั้ง 6 ราย มีข้อเท็จจริงที่ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้
.
(1) นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งในส่วนของคู่สมรสแจ้งว่า มีรายได้ค่าเช่าอาคาร 300,000 บาทต่อปี โดยในบัญชีโรงเรือน มีรายการเดียวที่แจ้งเป็นของคู่สมรส คือ คอนโดมิเนียม ขนาด 50 ตารางเมตร มูลค่า 3,000,000 บาท กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า รายได้ค่าเช่าอาคาร 300,000 บาทต่อปี มาจากคอนโดมิเนียม ขนาด 50 ตารางเมตร หรือไม่ และรายได้ค่าเช่าอาคารดังกล่าว มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
.
(2) นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งในส่วนของตนเองมีรายได้ค่าเช่าช่วงต่อ 240,000 บาทต่อปี และส่วนของคู่สมรสแจ้งว่า มีรายได้จากการเปิดคลินิก 500,000 บาทต่อปี โดยไม่มีการแสดงรายจ่ายค่าเช่าไว้แต่อย่างใด และของคู่สมรสไม่พบการแจ้งรายการอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคลินิกไว้ในรายการทรัพย์สินอื่น กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า ทรัพย์สินที่เช่าคืออะไร รายจ่ายค่าเช่าควรมีหรือไม่ และสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคลินิกควรมีหรือไม่ และรายได้ค่าเช่าช่วงต่อกับรายได้จากการเปิดคลินิกดังกล่าว มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
.
(3) พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งในส่วนของตนเองแจ้งว่า มีรายได้เงินประจำตำแหน่ง 854,760 บาทต่อปี เงินเพิ่ม 507,960 บาทต่อปี บวกแล้วได้ 1,362,720 บาท แต่แจ้งรายได้รวม 1,425,600 บาทต่อปี จึงมีผลต่างในส่วนรายได้ที่แตกต่างกัน 62,880 บาทต่อปี และในส่วนของคู่สมรสแจ้งว่า มีรายได้เงินประจำตำแหน่ง 450,000 บาทต่อปี แต่แจ้งรายได้รวม 2,250,000 บาทต่อปี จึงมีผลต่างในส่วนรายได้ 1,600,000 บาท กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า ผลต่างของรายได้ 62,880 บาท และ 1,600,000 บาท คืออะไร นอกจากนี้ ขอให้ตรวจสอบรายการหนี้สินอื่นของคู่สมรสที่แจ้งไว้ 2 รายการ รวม 35,000,000 บาท มีดอกเบี้ยจ่ายหรือไม่ และมีการแจ้งรายจ่ายค่าดอกเบี้ยหรือไม่
.
(4) นายพิศาล มาณวพัฒน์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งแจ้งว่า มีรายได้ สว. 1,362,720 บาทต่อปี และรายได้บำนาญ 612,867.60 บาทต่อปี โดยไม่ได้แจ้งรายจ่ายไว้แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า มีรายจ่ายใดที่ควรแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบหรือไม่ หากไม่มีรายจ่ายเลย มีใครออกค่าใช้จ่ายในแต่ละปีให้หรือไม่ จำนวนเท่าใด (ทั้งนี้ นายพิศาล มาณวพัฒน์ แจ้งว่า ไม่มีคู่สมรส)
.
(5) นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งแจ้งว่า มีรายได้ สว. 1,495,641.72 บาทต่อปี และรายได้บำนาญ 578,193.60 บาทต่อปี โดยแจ้งว่า มีคู่สมรส แต่กลับไม่แจ้งรายได้และรายจ่ายของคู่สมรสไว้เลย กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า คู่สมรสมีรายได้และรายจ่ายใดที่ควรแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบหรือไม่
.
และ (6) นางประภาศรี สุฉันทบุตร ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งแจ้งว่า มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนจาก บจก.โรงพยาบาลมุกดาหาร 3,600,000 บาทต่อปี รายได้ค่าเช่าที่ดิน ต.สำราญ อ.เมือง จ.มุกดาหาร 480,000 บาทต่อปี และรายได้จากเงินปันผลจากกิจการ 8,422,579 บาทต่อปี รวมรายได้ 12,502,579 บาทต่อปี แต่ทำไมกลับไม่มีการแจ้งรายได้จากตำแหน่ง สว. ไว้ และในส่วนของรายจ่าย แจ้งค่าใช้จ่ายทางภาษี 678,500 บาท กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า แจ้งค่าใช้จ่ายทางภาษี 678,500 บาท สอดคล้องกับรายได้หรือไม่ เพราะรายการเงินปันผลจากกิจการ ถ้าถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละสิบตามประมวลรัษฎากร น่าจะเท่ากับ 842,257.90 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายทางภาษีที่แจ้งไว้จะครบถ้วนหรือไม่
.
นอกจากนี้ ในรายการสิทธิและสัมปทาน ซึ่งมีแจ้งไว้ 2 รายการ คือ สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุของตนเอง รวม 63,580,000 บาท และสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุของคู่สมรส รวม 30,505,000 บาท ซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุของตนเองในหน้าบัญชีรวม กลับแจ้งไว้รวม 67,321,600 บาท เกิดผลต่าง 3,741,600 บาท กรณีดังกล่าวจึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การแจ้งรายการสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หรือมีการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือไปถึง ป.ป.ช. แล้ว ทางไปรษณีย์ EMS.
.
ไทยรัฐ

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ