White Channel

UN ไม่รับรองตอลิบาน เพราะการแบนสิทธิสตรีอัฟกันเป็นต้นเหตุสำคัญ

WORLD : UN ไม่รับรองตอลิบาน เพราะการแบนสิทธิสตรีอัฟกันเป็นต้นเหตุสำคัญ
.
โรซา โอตุนบาเยวา ทูตสหประชาชาติประจำประเทศ และหัวหน้าภารกิจช่วยเหลือของสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน (UNAMA) ระบุว่า “แทบเป็นไปไม่ได้เลย” ที่ประชาคมระหว่างประเทศจะยอมรับรัฐบาลตอลิบานตราบใดที่ข้อจำกัดเกี่ยวกับสตรีและเด็กผู้หญิงยังคงมีอยู่ในอัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของตอลิบาน
.
โอตุนบาเยวาระบุกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันพุธ (21 มิ.ย.) ว่ากลุ่มตอลิบานได้ร้องขอให้สหประชาชาติและประเทศสมาชิก ยอมรับสถานะของพวกเขา “แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับปฏิบัติค้านกับค่านิยมหลักที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ”
.
“ในการหารือกับเจ้าหน้าที่โดยพฤตินัยเป็นประจำ ดิฉันพูดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอุปสรรคที่พวกเขาสร้างขึ้นด้วยตัวเอง โดยการออกกฤษฎีกาและข้อจำกัดที่พวกเขาประกาศใช้ โดยเฉพาะต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” โอตุนบาเยวากล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ “เราได้แจ้งแก่พวกเขาว่า ตราบเท่าที่มีกฤษฎีกาเหล่านี้ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลของพวกเขา จะได้รับการยอมรับจากสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศ”
.
รัฐบาลตอลิบานในอัฟกานิสถานไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ จากรัฐประเทศที่สามหรือองค์กรระหว่างประเทศใดๆ นับตั้งแต่พวกเขาเข้ายึดอำนาจปกครองอัฟกานิสถานเมื่อเดือน ส.ค. 2564 ในขณะที่กองกำลังของสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการถอนกำลังออกจากประเทศ หลังจากสงครามที่ดำเนินไปยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ
.
ในช่วงแรกหลังการเข้ายึดอำนาจ ตอลิบานสัญญาว่า พวกเขาจะออกกฎแบบปานกลาง ซึ่งจะไม่เข้มงวดไปมากกว่าในช่วงแรกที่มีพวกเขามีอำนาจปกครองอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2544 แต่หลังจากนั้น ตาลีบันกลับเริ่มบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง รวมถึงการห้ามผู้หญิงไม่ให้สามารถออกจากบ้านไปทำงานที่มีในส่วนใหญ่ และการออกไปยังสถานที่สาธารณะด้วยตัวเองหากไม่มีญาติชายติดตาม เช่น สวนสาธารณะ โรงอาบน้ำ และโรงยิม นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงยังถูกห้ามไม่ให้เรียนเกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วย
.
ยิ่งไปกว่านั้น ตอลิบานยังนำการตีความกฎหมายอิสลามที่เคร่งจัดกลับมาปฏิบัติใช้ รวมถึงการประหารชีวิตในที่สาธารณะด้วย
.
โอตุนบาเยวารายงานว่า ตอลิบาน ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดเกี่ยวกับสตรีและเด็กหญิง รวมถึงการออกคำสั่งห้ามสตรีชาวอัฟกานิสถานที่ทำงานให้กับสหประชาชาติในเดือน เม.ย.
.
ทั้งนี้ โอตุนบาเยวากล่าวว่า กลุ่มตาลีบันไม่ได้ให้คำอธิบายแก่เธอ เกี่ยวกับการห้าม “และไม่มีการรับประกันว่า (มาตรการ) จะถูกยกเลิก”
.
“มันเป็นที่ชัดเจนเช่นกันว่ากฤษฎีกาเหล่านี้ ไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวอัฟกานิสถาน พวกเขาทำให้ตอลิบานต้องสูญเสียความชอบธรรมทั้งในและนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้กับประชากรครึ่งหนึ่ง และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ” โอตุนบาเยวากล่าว ตามรายงานของ UN News เธอยังย้ำอีกว่า สหประชาชาติยังคง “แน่วแน่” ว่าเจ้าหน้าที่หญิงจะไม่ถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่ชาย “ตามที่ทางการตอลิบานบางคนเสนอแนะ”
.
เมื่อปลายเดือน เม.ย. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีมติเรียกร้องให้กลุ่มตอลิบานยกเลิกข้อจำกัดที่รุนแรงมากขึ้น ที่บังคับใช้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และประณามการห้ามผู้หญิงอัฟกานิสถานทำงานให้กับสหประชาชาติ โดยระบุว่าเหตุดังกล่าว “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ”
.
ในการประเมินทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาของโอตุนบาเยวา ทูตสหประชาชาติยังระบุกับสมาชิกคณะมนตรีว่าระบอบตอลิบาน “ยังคงโดดเดี่ยวและเป็นเผด็จการ” โดยมี “อำนาจส่วนกลางที่ไร้ความรับผิดชอบ” และรัฐบาลของผู้ชายเกือบทั้งหมด ที่มาจากแคว้นปัชตุนและฐานที่มั่นในชนบท
.
UN News รายงานว่าแม้ว่าในขณะนี้นั้น เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานจะมีเสถียรภาพในแง่ของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทูตสหประชาชาติกล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มีอัตราคอร์รัปชันลดลง แต่ความยากจนในครัวเรือนขั้นรุนแรงยังเป็นปัญหาของประชากรอัฟกานิสถาน 58% ที่ “ดิ้นรนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน”
.
ในการกล่าวสรุปคำปราศรัยของเธอเองต่อคณะมนตรี โอตุนบาเยวากล่าวว่า สหประชาชาติในอัฟกานิสถานจะยังคงมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองตอลิบานของอัฟกานิสถาน แต่เธอตั้งข้อสังเกตว่า สหประชาชาติจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ หากมีการยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้หญิงของตอลิบาน
.
22 มิถุนายน 66
ขอบคุณ : VoiceOnline

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ