ชาติใดมีอำนาจและอิทธิพลต่อประเทศในเอเชียมากที่สุด – White Channel

White Channel

ชาติใดมีอำนาจและอิทธิพลต่อประเทศในเอเชียมากที่สุด

เกิดอะไรในโลก : ดัชนีอำนาจเอเชียจัดอันดับประเทศและดินแดนที่มีอิทธิพลต่อประเทศอื่นในเอเชียมากที่สุด สหรัฐยังครองตำแหน่งผู้มีอิทธิพลมากที่สุด รองลงมาเป็นจีน ไทยอยู่ในอันดับ 10

สถาบันโลวี (Lowy Institute) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีอำนาจเอเชีย (Asia Power Index) ซึ่งจัดอันดับอำนาจในภูมิภาคเอเชียของประเทศต่าง ๆ ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด และคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจเมื่อเวลาผ่านไป

ดัชนีดังกล่าวจัดอันดับประเทศและดินแดน 26 แห่งในแง่ของความสามารถในการกำหนดสภาพแวดล้อมภายนอกประเทศตัวเอง หรือความสามารถในการมีอิทธิพลต่อประเทศอื่นในเอเชีย โดยมีการให้คะแนนจะวัดจาก ตัวชี้วัดทรัพยากร (Resource) 4 ด้าน และตัวชี้วัดอิทธิพล (Influence) อีก 4 ด้าน

ตัวชี้วัดทรัพยากรประกอบด้วย ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ขีดความสามารถทางการทหาร ความสามารถในการรับมือภัยคุกคาม และการกระจายทรัพยากรในอนาคต ส่วนตัวชี้วัดอิทธิพลประกอบด้วย ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เครือข่ายความมั่นคง อิทธิพลทางการทูต และอิทธิพลทางวัฒนธรรม

📌 สหรัฐฯ ครองอำนาจ

ซึ่งผลการจัดอันดับดัชนีอำนาจเอเชีย 2023 ก็ออกมาว่า ประเทศที่มีอำนาจมากและมีอิทธิพลต่อประเทศในเอเชียมากที่สุดคือ สหรัฐฯ โดยได้คะแนนไปสูงถึง 80.7 คะแนน ถูกจัดให้เป็นขั้วอำนาจใหญ่ (Super Power) ในเอเชียเลยทีเดียว

สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ของจีนที่ตัดขาดจากโลกภายนอกในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ใน 8 ตัวชี้วัดนั้น สหรัฐฯ มีคะแนนเป็นที่ 1 ถึง 6 ตัวชี้วัด โดยแพ้จีนเพียงตัวชี้วัดเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการทูตเท่านั้น

ขณะที่ประเทศที่มีอำนาจมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียคือ จีน ด้วยคะแนน 72.5 คะแนน เหตุที่อำนาจของจีนในเอเชียลดลง เป็นเพราะขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งในปี 2022 ที่ผ่านมา แต่จีนยังคงยืนหยัดในนโยบายปลอดโควิด-19 เข้มงวด ทำให้ขาดการเชื่อมต่อกับนานาประเทศ

ในอันดับ 3 คือ ญี่ปุ่น ซึ่งอิทธิพลกำลังลดลง เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างได้กัดกร่อนอิทธิพลทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของประเทศทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ค่อย ๆ ผงาดขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงในเอเชีย

อันดับ 4 คือ อินเดีย มีส่วนร่วมเป็นหย่อมๆ ต่อความสมดุลของภูมิภาค มีอิทธิพลทางการทูตและมีแนวโน้มทางประชากรที่ดี แต่อิทธิพลของอินเดียกระจุกตัวอยู่ในละแวกใกล้เคียงเท่านั้น ทำให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกับประเทศที่เหลือในเอเชีย

รัสเซีย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศมหาอำนาจที่สำคัญอันดับ 5 ของเอเชีย แต่ได้คะแนนลดลงใน 7 จาก 8 ตัวชี้วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดอิทธิพลทางการทูต ซึ่งเกิดจากการใช้กำลังทางทหารรุกรานยูเครน นอกจากนี้ คาดว่าหลังสงครามสิ้นสุดลง คะแนนด้านความสามารถทางการทหารและเครือข่ายความมั่นคงมีแนวโน้มจะลดลงอีก

📌 ผลกระทบจากโรคระบาด

สถาบันโลวีระบุว่า เกือบทุกประเทศในดัชนีนี้มีคะแนนต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเฉพาะคะแนนด้านความสามารถในการรับมือภัยคุกคามและความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่โดยภาพรวมทั้งหมดลดลง

ทั้งนี้ ชาติมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอย่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในช่วง 3 ปีโควิด-19 ออสเตรเลียเพียงประเทศเดียวในกลุ่มขั้วอำนาจระดับกลางที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพลวัตมากขึ้นกว่าที่เคย ยกเว้นเมียนมาที่มีความขัดแย้งภายในประเทศ โดยมีตัวชี้วัดใหม่เผยให้เห็นว่าอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลทางการทูตที่แข็งขันที่สุดในภูมิภาคนี้ แม้แต่ประเทศเล็ก ๆ เช่นกัมพูชาและบรูไนก็มีสถานะที่ดีขึ้นเนื่องจากประสบความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียน

📌 ไทยขั้วอำนาจกลาง ?

สำหรับประเทศไทยเอง อยู่ในอันดับ 10 ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในเอเชีย โดยถูกจัดให้เป็นขั้วอำนาจระดับกลาง ที่ 18.7 คะแนน

ตัวชี้วัดที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศไทยคือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 อันเป็นผลมาจากการรวมเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค และความสัมพันธ์ด้านการลงทุนที่แข็งแกร่งกับประเทศอื่น ส่วนคะแนนที่แย่ที่สุดของไทย คือด้านขีดความสามารถทางทหารและทรัพยากรในอนาคต ซึ่งจะอยู่ในอันดับที่ 14 และ 15 ตามลำดับ

ในด้านอิทธิพลทางวัฒนธรรม ซึ่งแต่เดิมมาตรวัดที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศไทย ในปีนี้ลดลงมาถึง  2 อันดับ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซาในช่วงการระบาดของโควิด-19

📌 อาเซียนเริ่มมีบทบาท

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มโดดเด่นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ด้วยผู้นำในอาเซียนต่างต้องการสร้างความพร้อมในภูมิภาคทะเลจีนใต้และมีส่วนร่วมกับประเทศมหาอำนาจอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ขณะที่ภูมิภาคนี้ถูกมองว่าไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใดเป็นพิเศษ และรับมือกับความท้าทายของประเทศมหาอำนาจได้ยากลำบาก แต่ “ซูซานนาห์ แพตตัน” หัวหน้าโครงการศึกษาดัชนีและผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันโลวี อ้างอิงข้อมูล แสดงให้เห็นว่า ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีเครือข่ายสัมพันธ์ระดับสูงและมีความกระตือรือร้นทางการทูต

“อาเซียนห่างไกลจากการครอบงำระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่คะแนนอิทธิพลโดยรวมพัฒนาต่อเนื่องและมีอำนาจทางการทูต ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความเคลื่อนไหว ล่าสุดของอินโดนีเซียต่อเมียนมาและรัสเซีย-ยูเครน” แพตตัน กล่าว

📌 มหาอำนาจสหรัฐ-จีน

แพตตัน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเอเชียทูไนท์ของสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียว่า “สหรัฐมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายการป้องกันประเทศที่ล้ำหน้าจีนไปมาก ส่วนข้อดีของจีนเบื้องต้นเป็นด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ”

ข้อเสนอของรัฐบาลวอชิงตันที่มีต่อเอเชีย มุ่งเน้นไปที่ความความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตรที่เลือกไว้ ซึ่งรวมทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเกาหลีใต้

ในทางกลับกัน จีนมีพันธมิตรที่กว้างกว่ามาก แม้ความสัมพันธ์ในภูมิภาคอาจดูผิวเผินและเน้นเกี้ยวพาราสีกับหลาย ๆ ประเทศมากกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลจีนมีความสามารถทางทหารที่แข็งแกร่งมากขึ้นมากกว่าปีก่อน

ขณะที่ผลการศึกษา ระบุว่า สหรัฐไม่อาจเป็นผู้นำที่ชนะขาดในภูมิภาคนี้ได้อีกเนื่องจากอิทธิพลจีนเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลวอชิงตันยังคาดว่า จะมีอิทธิพลในเอเชียมากที่สุดอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเหตุการณ์ปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปักกิ่งมีโอกาสขึ้นนำสหรัฐได้น้อยภายในสิ้นศตวรรษนี้

ทั้งนี้ แพตตัน เผยว่า การแข่งระหว่างสหรัฐ-จีน ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งที่จะผลักอีกฝ่ายออกจากสนามได้

ที่มา :

Pptvhd : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/190289

Bangkokbiznews : https://www.bangkokbiznews.com/world/1051722

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ