White Channel

พรรคเป็นธรรม รุดลงพื้นที่บ้านบาตูฆอ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จี้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมแหล่งหิน

POLITICS : พรรคเป็นธรรม รุดลงพื้นที่บ้านบาตูฆอ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จี้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมแหล่งหิน ไม่ให้ประทานบัตรเอกชนทำเหมือง พบจะกระทบชาวบ้านหลายพันคนและทำลายถ้ำหินอายุกว่า 2,000 ปี แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
.
เมื่อ 25 มี.ค. 66 กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม พร้อมด้วย นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม นายอับดุลเลาะ สิเดะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ยะลา นายยามารุดดีน ทรงศิริ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ยะลา และรองโฆษกพรรค นายมูฮัมหมัดกัดดาฟี กูนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ปัตตานี ลงพื้นที่ บ้านบาตูฆอ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านบาตูฆอ นำโดยนายมะยูโซะ สาและ กรณีเอกชนเร่งขอประทานบัตรอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่โดยไม่ได้รับฟังความเห็นของประชาชน
.
นายมะยูโซะ บอกว่า จะมีชาวบ้านกว่า 1,600 คน ในบ้านบาตูฆอ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินิง และจะรวมไปถึงชาวบ้านใน อ.ยะหา จ.ยะลา จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากมีการอนุญาตสร้างอุตสาหกรรมเหมืองหิน และระเบิดถ้ำบาตูฆอ ซึ่งเป็นถ้ำหินอายุกว่า 2,000 ปี เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของ จ.ยะลา
.
“ถ้ำหินที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมถนนบ้านบาตูฆอ เรียกว่าถ้ำบาตูฆอ เป็นทั้งถ้ำหินโบราณอายุกว่า 2,000 ปี พบว่าเป็นหินรุ่นราชบุรี ภายในมีหินงอก หินย้อย และน้ำตกที่สวยงาม นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวบ้าน ที่อยู่ในคำขวัญของ อ.กรงปินัง เป็นสถานที่ที่ควรหวงแหนไว้ แต่ชาวบ้านตกใจมากที่มารู้ว่ามีเอกชนได้เข้ามาเร่งรัดขอประทานบัตรทำเหมืองหิน ทั้งๆ ที่เคยมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนมีมติไปแล้วว่าไม่อนุญาตให้ทำประทานบัตร”
.
นายมะยูโซะ กล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านบาตูฆอเป็นทุกข์อย่างหนัก เพราะทราบว่าเอกชนกำลังเร่งรัดให้มีการอนุญาตทำประทานบัตร โดยเฉพาะพื้นที่ขอสัปทาน คำขอที่ 3/2556 ที่จะต้องระเบิดถ้ำบาตูฆอ พบว่า มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นตั้งแต่ปี 2558-2559 จนถึงปี 2560 มีการรับฟังอีกครั้ง แต่ประชาชนไม่อนุญาตทำประทานบัตร เพราะนอกจากการสูญเสียถ้ำบาตูฆอแล้ว ผลกระทบจากการระเบิดหิน ซึ่งเป็นภูเขาความสูง 182 เมตร ความยาว 1.2 กม. ที่จะทำให้มีฝุ่นแล้ว จะเป็นการทำลายแหล่งน้ำ พื้นที่ป่า พื้นที่ต้นน้ำที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในหน้าแล้ง ใน อ.เมืองยะลา เกิดภัยแล้ง แต่ที่บาตูฆอ ไม่แล้งเพราะมีแหล่งน้ำในถ้ำหินด้วย
.
นายมะยูโซะ บอกด้วยว่า เขาอายุ 32 ปี เกิดที่หมู่บ้านนี้ เพราะพ่อเป็นผู้เริ่มเข้ามาตั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่มีการประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก.ในพื้นที่คำขอสัปทานมีการระบุว่าไม่ทับถนน ทั้งๆที่พื้นที่คำขอตั้งอยู่บนถนนทางหลวง เป็นถนนที่ใช้มาตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านนี้ และทาง อบจ.ได้มาพัฒนาในปี 2540 ระยะทางกว่า 10 กม. และยังจะเป็นถนนที่ใช้สัญจรผ่าน อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา ไปยัง อ.เบตงด้วย
.
“มีการประกาศให้พื้นที่บาตูฆอ เป็นแหล่งหิน เนื้อที่ 1,400 ไร่ คลอบคลุมใน อ.กรงปินัง อ.ยะหา ตั้งแต่ปี 2536 และเป็นพื้นที่ สปก.ตั้งแต่ปี 2530 ชาวบ้านก็ได้มาบุกเบิกทำการเกษตร รวมถึงพ่อของผมก็มาอยู่ที่นี่เป็นรุ่นบุกเบิก จนชาวบ้านมารู้ว่า พื้นที่บริเวณนี้มีเอกชนมายื่นคำขอ ถึง 5 คำขอ กระทบกับบ้านบาตูฆอ จะมีผู้ได้รับผลกระทบ กว่า 1,600 คน”
.
นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า การให้สัมปทานก่อนการสำรวจไม่ควรเกิดขึ้น พรรคเป็นธรรม เราไม่ปฏิเสธการพัฒนา ยอมรับว่าจำเป็น แต่ต้องเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ใช่การพัฒนาที่ผิดโครงสร้าง โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วอาจทำได้ แต่ปัจจุบัน ต้องไม่เอาการพัฒนาเสริมความมั่นคง ประชาชนไม่ได้ถูกมอง ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา พรรคเป็นธรรมจะให้ความสำคัญตรงนี้
.
“พรรคเป็นธรรมจะเดินหน้าในการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศพื้นที่เหมืองหิน และยกเลิกการขอประทานบัตร ตามที่ชาวบ้านบาตูฆอ ไม่เห็นด้วย และต้องผลักดันให้มีการเห็นคุณค่าของพื้นที่ฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชน และเสียงของประชาชนต้องสำคัญ” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ
.
ขณะที่ นายมูฮัมหมัดกัดดาฟี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ปัตตานี ที่เคยทำงานในกลุ่ม Patani Resources และติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2558 พบว่าชาวบ้านไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ จากทางราชการ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ได้มีการลงพื้นที่รับฟังชาวบ้านที่แท้จริง ทั้งๆ ที่รัฐต้องรู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีฐานทรัพยากรที่มากมาย ถ้ามีการระเบิดหินจะสูญเสียมาก ก่อนจะพัฒนาจึงต้องมีการประเมินทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา
.
นายฮากิม รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า พรรคเป็นธรรมจะเสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และทางอำเภอกรงปินังต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้ำบาตูฆอ เป็นคำขวัญของอำเภอกรงปินัง เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ จึงต้องยกเลิกประกาศพื้นที่เหมือง
.
ขณะที่ นายอับดุลเลาะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ยะลา ที่เป็นพื้นที่บ้านบาตูฆอ ยืนยันว่าจะร่วมเคียงข้างชาวบ้านบาตูฆอ คัดค้านการขอประทานบัตร หยุดการสร้างเหมืองในพื้นที่นี้อย่างถึงที่สุด ซึ่งการพัฒนาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้องออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน
.
ผู้จัดการออนไลน์
.

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ