White Channel

มติ 8 พรรคร่วม ยังเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ อีกครั้ง

POLITICS : มติ 8 พรรคร่วม ยังเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ อีกครั้ง หวังได้เสียง ส.ว. เพิ่ม หากได้เพิ่มไม่ถึง 345 พร้อมถอยให้โอกาส เพื่อไทย นำตั้งรัฐบาล
.
17 ก.ค. 2566 ที่อาคารไทยซัมมิท พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 7 พรรค อาทิ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
.
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นาวาอากาศเอก สุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง และตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่

พิธา แถลงข่าวผลการหารือของ 8 พรรคร่วม โดยระบุว่า มีข้อสรุปอยู่ 3 ข้อ ได้แก่

1.) วันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้ 8 พรรค มีมติส่งตนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

2.) การหารือในเรื่องเกี่ยวกับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีก 7 พรรคที่เหลือ

3.) หารือในข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว. จะตีความตามข้อบังคับข้างต้น ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นทางกฎหมายว่าไม่น่าจะเข้าข่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเป็นญัตติ ในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะมองเห็นต่างกับ ส.ว.ในเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีการเตรียมการในส่วนของรายละเอียดในการเข้าสู่วันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้

หากวันที่ 19 ก.ค. มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ พิธา กล่าวว่า อย่างที่ได้แถลงผ่านวิดีโอไป หากสมรภูมิแรก ถ้าคะแนนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เราก็พร้อมที่จะถอยให้กับประเทศชาติ ถอยให้พรรคอันดับ 2 ที่อยู่ใน MOU ร่วม ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทย

เมื่อถามว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือเท่าใด พิธา เผยว่า ถ้าให้เหมาะสมต้องเพิ่มขึ้นเป็น 344-345 เสียง ก็จะเป็นตัวเลขที่ไม่ฝืนสายตาประชาชน

ในกรณีมีการตีความตามข้อบังคับรัฐสภา ที่ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อ พิธา ซ้ำได้ ทาง 8 พรรคจะดำเนินการอย่างไรในวันนั้น พิธา กล่าวว่า มีข้อสรุปในทางกฎหมายเพียงฝ่ายของเรา พรุ่งนี้จะมีการประชุมวิปอีกครั้ง ซึ่งถ้ามีการประชุมวิปก็น่าจะเห็นตรงกัน

สำหรับถึงความสัมพันธ์ของพรรคร่วม พิธา กล่าวว่า เป็นไปได้ด้วยดี มีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ จึงมีมติที่จะเสนอชื่อตนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

เมื่อถามว่า มีความต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคชาติไทยพัฒนา หรือไม่ พิธา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่เป็นมติของ 8 พรรค

พิธา ยังเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสำรอง ในกรณีที่เสนอชื่อ พิธา แล้วคะแนนยังไม่ถึง ยังเป็นชื่อตนเพียงคนเดียวอยู่

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของการหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ในการโหวตให้ พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี พิธา กล่าวว่า หลังจากวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกับ ส.ว. โดยมีทั้งคนที่ไม่ได้มาร่วมโหวตออกเสียงในวันนั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะโหวตสนับสนุน

ส่วนกระแสข่าวว่า พิธา ได้ ได้ต่อสายตรงคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิม พิธา ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่หารือถึงประเด็นทางการเมืองกับเพื่อน ส.ส. และ ส.ว. ในสภา หรืออยากจะหาข้อมูลก็จะมีการพูดคุยกัน

“ไม่มีการเชิญเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งที่มีกระแสข่าวออกมาว่าคุยกับทุกพรรค ยกเว้นพรรคลุง ได้มีโอกาสพูดคุยว่าสถานการณ์นี้มีความคิดเห็นอย่างไร เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่มีการโทรไปขอคะแนนเสียง”

ส่วนการโหวตนายกฯ รอบ 2 ที่จะมีการเสนอชื่อนายกฯ แข่ง พิธา ชี้ว่า จากที่ได้ฟังสัมภาษณ์จากพรรคเสียงข้างน้อย ทุกคนพูดว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อนุชา นาคาสัย ส.ส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ จากที่เห็นในสื่อก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชิงนายกฯ สามารถรวมเสียงได้หรือไม่ พิธากล่าวว่า ต้องฝากนักข่าวไปถาม พล.อ.ประวิตร ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการเรียก ส.ส.ไปพูดคุยเพื่อซื้องูเห่านั้น ทางฝั่งของพรรคก้าวไกลได้ติดตามและคอยเช็กตลอด มั่นใจว่าทุกคนได้รับบทเรียนของการเป็นงูเห่า ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่มี และคิดว่าทางพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

กรณีหากพรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้พรรคอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมายกมือโหวตให้ พิธา มองว่า มาตรา 112 เป็นข้ออ้างที่อยู่ข้างหน้า แต่ว่าข้างหลังก็คงมีหลายเรื่อง ตามที่สื่อมวลชนวิเคราะห์ในหลายรายการ ก็เห็นตรงกันว่าจริง ๆ แล้วมีหลายเรื่องที่จะไปมีผลกระทบต่อสัมปทานและผลประโยชน์การปฏิรูปกองทัพ กอ.รมน. ที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ห่างออกจากการเมืองให้ได้ ซึ่งเชื่อว่ามาตรา 112 ก็เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง คิดว่าถ้าเรื่องนี้หายไปเรื่องอื่นก็จะมาอีกทาง

“เรื่องที่สำคัญคือตนต้องการที่จะรักษาคำพูด ก่อนหาเสียงพูดไปอย่างไร หลังหาเสียงก็ไม่ใช่ว่าต้องการที่จะเข้าสู่อำนาจด้วยทุกวิถีทาง ถ้าเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักจริงก็อาจจะคิด แต่ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่มีน้ำหนักเท่ากับเรื่องต่างๆ ที่อาจจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ของแต่ละคน”

เมื่อถามถึงการรับมืออย่างไรหากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน พิธา กล่าวว่า ผลจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ได้ทำให้ความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของตนหายไป เมื่อเทียบกับกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจแต่อย่างใด
.
ขอบคุณ

VoiceOnline

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ