White Channel

โมดี ยันไม่มีรังแกชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศ

WORLD : นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ระบุในงานแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ วานนี้ (22 มิ.ย.) โดยปฏิเสธแข็งขันว่ารัฐบาลของเขา “ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย” แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เองจะเผยแพร่รายงานตีแผ่ปัญหาการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นในอินเดียก็ตาม
.
ด้านผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ตนได้หารือประเด็นสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตยกับ โมดี ระหว่างพบกับที่ทำเนียบขาว
.
ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม โมดี เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่เขาจะทำเพื่อ “ยกระดับสิทธิชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” แต่คำตอบที่ได้จากผู้นำอินเดียก็คือ ไม่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงอะไร
.
“รัฐธรรมนูญและรัฐบาลของเรา… ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถมอบความเป็นประชาธิปไตยได้ และที่พูดเช่นนี้ผมหมายความว่า ระบบวรรณะ, ลัทธิความเชื่อ, ศาสนา, เพศสภาพ ล้วนไม่ถูกแบ่งแยกกีดกัน (ภายใต้รัฐบาลของผม)” โมดี กล่าว
.
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานชี้ให้เห็นปัญหาการกดขี่ชาวมุสลิม คนฮินดูในวรรณะจัณฑาล หรือฑลิต (Dalit) ชาวคริสต์ รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่นๆ ในอินเดีย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนด้วย
.
นักสิทธิมนุษยชน และ ส.ส.จากพรรคเดโมแครตหลายคนพยายามเรียกร้องให้ ไบเดน หยิบยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุยแบบเปิดเผยกับ โมดี ซึ่งเป็นผู้นำพรรคชาตินิยมฮินดูภารติยะชนตะ (BJP) ที่ครองอำนาจในอินเดียมาตั้งแต่ปี 2014
.
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงหลายสิบคนได้มารวมตัวกันที่ด้านนอกทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (22) หนึ่งในนั้นคือ อาจิต ซาฮี (Ajit Sahi) ผู้อำนวยการสภามุสลิมอเมริกันอินเดีย (Indian Muslim American Council) ซึ่งระบุว่า “โมดี ควรกลับไปคิดทบทวนว่า ทำไมนี่จึงเป็นประเด็นแรกที่เขาถูกสื่อตั้งคำถามในงานแถลงข่าว เพราะทุกคนก็ทราบกันดีว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินเดีย”
.
รากิบ ฮามีด นาอิก (Raqib Hameed Naik) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Hindutva Watch ซึ่งติดตามรายงานการโจมตีชนกลุ่มน้อยในอินเดีย ชี้ว่า “คำพูดของ โมดี (ที่ว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยภายใต้รัฐบาลของเขา) เป็นการโกหกคำโต อินเดียเรียกได้ว่าเป็นหลุมดำสำหรับผู้ที่นับถือศาสนากลุ่มน้อย”
.
อินเดียถือเป็นอีกหนึ่งชาติมหาอำนาจที่สหรัฐฯ หวังดึงให้มาร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของจีน และสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันทำให้สหรัฐฯ เองมีอาการ “น้ำท่วมปาก” อยู่บ่อยๆ เมื่อจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในแดนภารตะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
.
ผู้จัดการออนไลน์

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ