White Channel

Social : “อ.วันนอร์-อ.อรุณ”ร่วมโครงการ Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ ร่วมละศีลอด ละหมาดกับผู้ต้องขัง ครั้งแรกของเรือนจำพิเศษมีนบุรี

.

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 17.00 น. ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี กระทรวงยุติธรรม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการ “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” พร้อมด้วยนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว โดยมีพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายนนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ให้การต้อนรับ

.

เนื่องในโอกาสแห่งเดือนรอมฎอนอันประเสริฐที่มุสลิมทั่วโลกร่วมปฏิบัติศาสนากิจ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ได้ตระหนักในคุณค่าและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน ทั่วประเทศ นำหลักธรรมคำสอนทางศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับความเชื่อในศาสนาของผู้ต้องขังแต่ละคน โดยผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและวางแผนการปฏิบัติรายบุคคลอย่างเหมาะสม เรือนจำพิเศษมีนบุรี จึงได้จัดโครงการ “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลิกภาพ ฝึกความอดทนทั้งทางร่างกายและฝึกจิตใจของผู้ถือศีลอด ให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเสียสละและรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญคือ การคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากภาคสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ให้กำลังใจและให้โอกาสแก่ผู้ต้องขัง ดังคำขวัญที่ว่า “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” ซึ่งในโครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป ได้บริจาคปัจจัยต่าง ๆ ในกิจกรรมถือศีลอด เพื่อร่วมเป็นกำลังใจในการเสริมสร้างให้ผู้ต้องขังทำความดี

.

โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาอิสลาม เข้าร่วมโครงการ “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” จำนวนทั้งสิ้น 419 คน ซึ่งโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี พ.ศ. 2567 ของกระทรวงยุติธรรม ด้านการพัฒนาระบบหรือโปรแกรมการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิด ที่หลากหลายและมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่ม เช่น การจำแนกลักษณะจากความเชื่อ ความศรัทราในศาสนาของผู้ต้องขังแต่ละคน เพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาจิตใจ โดยการใช้ศาสนาเข้ามาปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นไปในทางที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก และนโยบาย 8 มิติ ยกระดับสร้างความเปลี่ยนแปลงของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ มิติที่ 4 พัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขผู้ต้องขังให้ตรงกับปัญหาของการกระทำความผิด โดยเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ได้ยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมต่อไป

.

นายวันมุหะมัดนอร์ มะทา กล่าวตอนหนึ่งในช่วงการเปิดโครงการว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่สำคัญและประเสริฐยิ่งสำหรับพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประมุขของประเทศ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ก็ต้องถือศีลอดเหมือนบุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้ต้องขังไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ถึงแม้ท่านอยู่ในเรือนจำเป็นผู้ต้องขัง ท่านมีสิทธิ์ทำความดีเพื่อเป็นการลดโทษของตัวท่านเอง อัลลอฮฺ (ซบ.)จะบันทึกความดีงามของท่านตลอดเวลา และความดีนั้นจะชำระล้างบาปของท่าน และท้ายที่สุดจะได้ไปสวรรค์ ถึงแม้ตัวผมเองถ้ากระทำผิดทั้งๆที่อยู่ในตำแหน่งประธานรัฐสภา ผมก็จะถูกพระเจ้าลงโทษเหมือนกับพวกท่านทั้งหลายโดยไม่มีการยกเว้น การอยู่ในเรือนจำนั้นไม่ได้สบาย จึงอยากพูดกับท่านอย่างมิตรที่ดีว่า ถ้าหากพวกท่านเสียชีวิตไป และไม่มีความดี จะถูกทรมานในหลุมฝังศพ (กุโบร์) มากกว่าในเรือนจำนี้หลายเท่า

.

ด้านพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างให้โอวาทแก่ผู้ต้องขังว่า วันนี้เราอยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่สื่อไปยังเรือนจำอีก 143 แห่งทั่วประเทศที่มีผู้ต้องขังเป็นมุสลิม ประเทศไทยไม่ได้มีการแบ่งแยก เรามีความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย พวกเราให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกคน เดือนรอมฎอนเป็นเดือนอันประเสิรฐ เป็นเดือนแห่งความเสมอภาค เป็นเดือนของการให้อภัย การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนคือการให้ที่ทรงคุณค่าที่สุด เราอยากจะบอกผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกๆคนว่าเราให้กำลังใจ ทุกท่านคืออนาคตของชาติ ทุกท่านจะต้องออกจากเรือนจำ อยากให้เวลาที่อยู่ในเรือนจำเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่ทรงคุณค่าของพวกเรา การให้ความสำคัญกับจิตใจย่อมมีความหมายมากกว่าวัตถุ เวลาเราอยู่ในเรือนจำ เราจะรู้คุณค่าของเสรีภาพ เวลาเราป่วย เราจะรู้คุณค่าของสุขภาพ งานวันนี้เราอยากให้คำว่าเรือนจำเป็นที่สร้างคน และคนไปสร้างสังคม

.

ด้านนายอรุณ บุญชม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างให้โอวาทกับผู้ต้องขังโดยอ้างอิงจากคำสอนของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซล.) ว่า “ มนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แต่คนที่ทำผิดพลาดที่ดีที่สุดนั้นก็คือคนที่สำนึกตัว กลับตัว กลับใจเป็นคนดี” วันนี้ผู้ต้องขังต้องอยู่ในเรือนจำ แต้ในวันนึงท่านก็มีโอกาสที่จะได้รับอิสรภาพ กลับไปพบกับครอบครัวของท่าน ออกไปอยู่ในสังคม สิ่งแรกที่อยากจะให้พี่น้องนั้นปฏิบัติก็คือ ให้พี่น้องได้ไปมัสยิด ไปร่วมกับผู้ปฏิบัติละหมาดอยู่ที่มัสยิด ท่านก็จะได้พบกับคนผู้ทั้งหลาย ที่ในที่สุดแล้วคนเหล่านั้นจะให้การยอมรับท่าน ยอมรับการกลับตัวของท่าน ทั้งที่อัลลอฮฺ (ซบ.)ได้รับการกลับตัวของท่านแล้ว การกลับตัวก็คือ เลิก ละ จากสิ่งที่เป็นความผิด สิ่งที่เป็นบาปที่เรากระทำอยู่ ประการที่สอง ตั้งใจว่าจะไม่กลับไปกระทำความผิดนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ประการที่สาม มีความเสียใจที่ได้กระทำความผิดนั้นๆ เมื่อทำสามประการนี้แล้ว อัลลอฮฺ(ซบ.)ก็จะให้การตอบรับการกลับตัวของท่าน สุดท้ายได้วิงวอนจากอัลลอฮฺ (ซบ.)ได้ประทานพรให้กับทุกๆท่าน มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีความจิตวิญญาณของการทำความดี

.

ด้านประธานผู้ต้องขังมุสลิมท่านหนึ่ง (ได้รับการคัดเลือกจากผู้ต้องขังกว่า 500 คน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทางเรือนจำอำนวยความสะดวกในเรื่องของการปฏิบัติศาสนกิจเป็นอย่างมาก สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน มีอาคารแยกให้ผู้ต้องขังมุสลิมอยู่ ซึ่งง่ายต่อการปฏิบัติศาสนกิจไม่ว่าจะเป็นการละหมาด 5 เวลา การอ่านอัลกุรอาน โดยเฉพาะในวันศุกร์นั้นมีการจัดละหมาดวันศุกร์ พร้อมด้วยการกล่าวคุตบะฮฺ (แสดงธรรม) โดยเฉพาะเดือนรอมฎอนนั้น ในช่วงการทานอาหารซะฮูร (อาหารดึก) นั้นจะได้ทานในช่วงตี 4 มีเวรยามนำอาหารมาส่งยังเรือนนอน ขณะที่สิ่งที่ผู้ต้องขังมีความต้องการอยู่ในตอนนี้นั้นก็คือ อยากให้มีวิทยากรจากสถาบัน หรือมูลนิธิต่างๆ ได้เข้ามาอบรมเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งก็ได้ นอกจากนี้ยังมีความต้องการในเรื่องของหมวก ผ้าโสร่งซึ่งขาดแคลนถึง 200-300 ผืน หนังสือศาสนา ตลอดจนหนังสือที่จะใช้ในการคุตบะฮฺ

.

ขณะที่นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการนี้ถือว่ามีความสำคัญมากต่อพี่น้องผู้ต้องขังมุสลิมได้ปฏิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งเป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาอื่นๆ ที่เรือนจำเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังนั้นได้ปฏิบัติศาสนกิจในขณะที่อยู่ในเรือนจำ เราเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติศาสนกิจของผู้ต้องขังนั้นจะมีพฤติกรรมที่ดี หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นศาสนบำบัดที่จะมาดูแลแก้ไขพฤติกรรมที่จะเป็นเหตุในการกระทำความผิด โดยการละศีลอดและละหมาดร่วมกับผู้ต้องขังนั้นถือว่าเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก ซึ่งจะทำให้พี่น้องผู้ต้องขังนั้นมีกำลังใจที่ดี ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมนั้นยังให้โอกาสถึงแม้ว่าพวกเขานั้นอยู่ในเรือนจำ ขณะที่การอบรมผู้ต้องขังด้วยหลักการศาสนานั้นถือเป็นเจตนารมณ์ของกรมฯอยู่แล้ว สิ่งใดที่สามารถจะเพิ่มในการเรียนการสอนที่ดีขึ้น ทำให้มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจเราพร้อมที่จะดำเนินการ

.

นายนนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านจุฬาราชมนตรี และประธานรัฐสภา พร้อมผู้ด้วยผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆท่านได้มาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งงานเลี้ยงละศีลอดในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกสำหรับเรือนจำพิเศษมีนบุรีนี้ และคิดว่าจะสร้างความประทับใจไปอีกยาวนาน โดยปกติแล้วผู้ต้องขังมุสลิมที่สามารถถือศีลอดได้นั้นจะไปรวมกันในห้องที่จัดไว้ ซึ่งจะเป็นห้องรวมที่มีอาหารจัดไว้สำหรับละศีลอด และปฏิบัติศานกิจภายในห้องนี้ได้ ขณะที่ในเวลากลางวันนั้นก็ใช้ชีวิตปกติ บางคนที่ปัญหาในเรื่องของสุขภาพ ไม่ค่อยแข็งแรง ในเรื่องของการถือศีลอดก็จะให้นอนพักอยู่บนห้อง ไม่ได้บังคับในเรื่องของการทำงานแต่อย่างใด

.

ขณะเดียวกันในเรื่องของการละหมาดนั้นทางเรือนจำไม่ได้ห้าม นอกจากนี้ยังมีการจัด-ปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้นตามความต้องการข้องผู้ต้องขัง โดยในเรื่องของการปฏิบัติศาสนกิจนั้น ทุกๆศาสนาสามารถกระทำได้ นอกจากนี้ทางเรือนจำยังได้จัดอบรมวิชาชีพ มีวิทยากรเข้ามาฝึกอาชีพระยะสั้น เพื่อจะได้เป็นสิ่งที่ติดตัวไปหลังจากออกจากเรือนจำ ส่วนการอบรมเรื่องศาสนานั้นทางเรือนจำก็มีการจัดอบรมเพื่อให้ผู้ต้องขังนั้นได้ใช้ในการเลื่อนชั้น หรือการปรับลดโทษได้ ซึ่งในช่วงของวันรายอ (เสร็จสิ้นจากการถือศีลอด) จะมีการจัดงานให้กับผู้ต้องขัง สำหรับญาติที่ต้องการนำสิ่งของมาให้นั้น ทางเรือนจำของให้เอาของไปรวมกันที่มัสยิด แต่ต้องไม่ระบุว่าให้ใคร หลังจากนั้นทางมัสยิดจะนำมาส่งเป็นกองกลางให้กับเรือนจำเพื่อแจกจ่ายต่อไป

.

ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว. ที่ได้มาร่วมงานละศีลอดในครั้งนี้เปิดเผยว่า งานวันนี้ไม่ใช่งานธรรมดา ถือเป็นงานที่เป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งบุคคลระดับประธานรัฐสภานั้นมาถึงที่นี่พร้อมด้วยท่านจุฬาราชมนตรี และตัวแทนของรัฐบาล มาร่วมกันละศีลอดกับผู้ต้องขังมุสลิม มาร่วมสวดมนต์ร่วมกัน มารับพรร่วมกัน ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้กันและกัน ขณะที่อีกมุมหนึ่งที่มองเห็นคือความเสมอภาค การถือศีลอด การละศีลอด ไม่ว่าใครก็ตามต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด คำสอนนี้ถือเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่

.

บรรยากาศการละศีลอดนั้นเป็นไปอย่างอบอุ่น หลังจากการละศีลอดในช่วงแรกแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ,นายอรุณ บุญชม พร้อมด้วยบุคลากรต่างๆจากภาคสังคมภายนอกเรือนจำได้ร่วมกันละหมาดมักริบพร้อมกับผู้ต้องขัง หลังจากนั้นร่วมกันรับประทานอาหารในช่วงที่สองร่วมกัน ปัจจุบันเรือนจำพิเศษมีนบุรีมีผู้ต้องขังกว่า 2,880 คน ซึ่งเป็นมุสลิม 419 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังชาย 393 คนและผู้ต้องขังหญิง 26 คน

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ