White Channel

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ยืนยันทำหน้าที่เป็นกลาง ฟังความเห็นทุกฝ่ายก่อนวินิจฉัยข้อบังคับโหวตนายกรัฐมนตรี

POLITICS : วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ยืนยันทำหน้าที่เป็นกลาง ฟังความเห็นทุกฝ่ายก่อนวินิจฉัยข้อบังคับโหวตนายกรัฐมนตรี
.
(21 ก.ค.66) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ที่ห้องโถงชั้น 2 อาคารรัฐสภา เพื่อทำความเข้าใจประเด็นการประชุมรัฐสภา ในวาระสรรหานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 โดยกล่าวว่า “ก่อนการประชุม มีการหารือกันโดยมีข้อคิดเห็นต่างกันในบางประเด็น โดยบางฝ่ายเสนอว่าไม่ควรเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ เพราะจะไปขัดกับข้อบังคับที่ 41 ญัตติหรือวาระที่ตกไปแล้วไม่สามารถเสนอเข้ามาอีกได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติทั่วไป แต่เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แล้วข้อบังคับของรัฐสภา พ.ศ.2563 ได้ออกพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ โดยใช้ข้อบังคับที่ 136, 137, 138 และ 139 ก็ถกกันในประเด็นนี้”
.
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ชี้แจงว่าได้เชิญทุกฝ่ายมาหารือกันก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาสรรหานายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า “ผมได้เชิญให้วิปสามฝ่าย ทั้ง วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 พรรคที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาลที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และอีก 10 พรรค มาประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เพื่อให้การประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคมดำเนินด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ แต่ก่อนที่จะประชุมวิปผมก็เห็นว่าเป็นประเด็นที่จะต้องประชุม โดยประธานรัฐสภาอาจจะต้องมีข้อวินิจฉัยพิจารณาด้วย ทางสภาผู้แทนราษฏรก็มีคณะกรรมการคณะหนึ่งที่เรียกว่าคณะพิจารณาที่จะนำเสนอประกอบการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งมีฝ่ายกฎหมายและฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ผมก็เลยนำประเด็นที่มีความแตกต่างในการใช้ข้อบังคับนี้ไปพิจารณา ก่อนที่จะนำไปประชุมกับวิปสามฝ่ายในวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วก็ได้รายงานให้ผมทราบว่าที่ประชุมก็มีความเห็นสองฝ่าย ทั้ง สส.และ สว. คือฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า ควรจะใช้ข้อบังคับที่ 41 ได้ เพราะเป็นญัตติที่เสนอมาว่าสภาจะทำได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมีมติแล้ว ก็ไม่สามารถนำญัตติที่ตกไปมานำเสนอได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอว่าอันนี้เป็นกระบวนการพิเศษเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่เสียงข้างมากในที่ประชุมวันนั้น 8 ต่อ 2 คือ 8 เสียงเห็นว่าควรใช้ข้อบังคับที่ 41 ได้ อีก 2 คนเห็นว่าไม่ควรใช้ข้อ 41 แต่ควรใช้ข้อบังคับหมวด 9 ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งฝ่ายกฎหมายและฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รับความเห็นนี้ไปประชุมร่วมกันในวิปสามฝ่ายเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งวิปสามฝ่ายก็เสนอความเห็นไม่ตรงกัน ไม่ลงตัว ว่าจะใช้หมวด 9 หรือข้อบังคับที่ 41 ซึ่งถ้าหาข้อสรุปอย่างนี้ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องไปขอความเห็นจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคม ปรากฏว่ามีการถกเถียงใช้เวลา 3 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่าควรจะใช้ข้อใด ก็มีคนให้แนวทางว่า ถ้าเราเอาข้อบังคับที่ 151 มาใช้ประกอบกันก็จะทำให้ได้ข้อยุติ ถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับก็แล้วแต่ ก็ให้ถกเถียงไป ประธานรัฐสภาก็เห็นว่า เมื่อไม่สามารถหาข้อยุติได้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ก็จะมีข้อยุติได้โดยการตีความข้อบังคับ แต่จะตีความว่ามีบังคับแล้วจะไปขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์ใหญ่กว่านั้น ประธานรัฐสภาไม่สามารถวินิจฉัยได้ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”
.
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้เน้นย้ำแนวทางที่เป็นกลางที่สุดคือการรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา โดยกล่าวว่า “เพราะฉะนั้นทางออกซึ่งเกี่ยวข้องกับประธานรัฐสภา คือนำข้อบังคับที่ 151 มาประกอบการพิจารณาในที่ประชุม ก็ได้ให้ที่ประชุมพิจารณาไปอีก 3 ชั่วโมง จนในที่สุดไม่มีใครแสดงความคิดเห็นแล้ว คือเห็นด้วยว่าให้ใช้หมวด 9 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้ห้ามเสนอชื่อซ้ำ กับอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้เสนอชื่อซ้ำเพราะมีข้อบังคับ จนหมดผู้อภิปรายแล้ว ผมนั่งเป็นประธานรัฐสภา จึงได้เปิดให้โหวตเรื่องนี้ ถ้าจะโหวตว่าให้ใช้ข้อบังคับที่ 41 เสนอซ้ำไม่ได้นั้น ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของสมาชิกรัฐสภา คือ 375 ก็โหวตกันในวันนั้นปรากฏว่าเสียงให้ใช้ข้อบังคับที่ 41 ตามที่ได้ให้ตีความมาตรา 151 แล้ว ได้ 395 เสียง ก็ถือว่ามติให้ใช้ข้อ 41 เพราะเสียงเกิน 375 แต่วรรคต่อมาว่าในข้อที่ 41 นั้น ประธานรัฐสภาสามารถเสนอซ้ำได้ แต่ในวันนั้นผมนั่งเป็นประธานการประชุมทั้งวัน ไม่มีสมาชิกในที่ประชุมท่านใดแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เพื่อจะให้ประธานได้วินิจฉัยว่าเหตุการณ์ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็ไม่สามารถอนุญาตให้เสนอซ้ำได้ ดังนั้นเสียง 395 ก็ถือว่าชอบโดยมติแล้ว ประธานไม่สามารถเสนอต่อได้ ประธานจะนำความคิดเห็นของตนเองว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เดี๋ยวจะเกิดประเด็นว่าประธานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และในวันนั้นไม่ได้ตั้งใจว่าจะปิดประชุมก่อน เพราะหมดวาระแล้ว แต่ภายหลังมีผู้เสนอว่าอยากจะให้ประธานวินิจฉัยว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งประธานได้วินิจฉัยแล้ว นั่งฟังการประชุมแล้วทั้งวันแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงได้นำข้อยุติว่า 395 เสียงนั้นเห็นว่าไม่สามารถจะเสนอชื่อซ้ำได้ ตามข้อบังคับที่ 41ก็เท่านั้นเอง”
.
วันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวเปิดใจถึงการทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ว่า “ผมได้ทำหน้าที่ดำเนินการประชุมตามข้อบังคับ และตามที่ได้แสดงนโยบายว่าจะปฏิบัติตนเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่ว่าไปรับฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคิดว่าได้ปฎิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับแล้ว”
.
สื่อมวลชนถามว่าการประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้จะไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวย้ำว่า “ก็ยุติไปแล้ว ถ้าประธานรัฐสภาไม่ปฏิบัติตามมติ ก็จะมีคนร้องเรียนได้อีก แต่ร้องคราวนี้ไม่ใช่ร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าประธานปฏิบัติไม่ชอบจะร้อง ป.ป.ช.ได้ ซึ่งอดีตประธานรัฐสภาบางท่านโดนไปแล้ว ป่านนี้พ้นจากตำแหน่งยังสอบสวนไม่เสร็จ ก็เป็นผู้ถูกกล่าวหา ผมคิดว่าประธานรัฐสภาไม่ควรจะเป็นผู้ถูกกล่าวหา”
.
สื่อมวลชนถามถึงประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “ผมปฎิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว ส่วนทัวร์จะลง หรือใครจะมีความคิดเห็นอย่างไร ต้องยอมรับว่าเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ครับ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ แต่ผมยึดมั่นว่ามาทำหน้าที่นี้แล้ว ผมต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและต้องเป็นกลางที่สุด ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องแล้วได้นายกรัฐมนตรีตามที่ประชาชนต้องการด้วยนะครับ”
.
สื่อมวลชนถามถึงประเด็นที่มีพรรคการเมืองแสดงความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ประธาน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “ไม่ใช่ก้าวไกลอย่างเดียวที่มีความเห็นต่าง หลายคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างเยอะแยะไปหมด เป็นเรื่องธรรมดาการตัดสินใจหรือเป็นกรรมการใดๆ ต้องมีฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ แม้แต่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาก็อาจจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ สังคมจะเห็นตรงกันในทุกเรื่องคงเป็นไปได้ยาก ผมพร้อมที่จะรับฟังคำตำหนิครับ”
.
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี ว่า “ผมได้ออกหนังสือไปแล้วว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ และจะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เวลา 14.00 น.”
.
ข่าวโดยทีมโฆษกประธานรัฐสภา

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ