White Channel

เปิดบทบาทกษัตริย์มาเลเซีย ผ่าความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

เปิดบทบาทกษัตริย์มาเลเซีย ผ่าความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

เกิดอะไรในโลก : เปิดบทบาทกษัตริย์มาเลเซีย หลังผ่าความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่สำเร็จ

สำนักพระราชวังมาเลเซียเผยแพร่แถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลเลาะห์ อะห์หมัด ชาห์ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศ โดยจะเข้าพิธีสาบานตนในเวลา 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น

การขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง “ได้ในที่สุด” ของอันวาร์ วัย 75 ปี ถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยและการเดินทางบนเส้นทางการเมืองอันยาวนานกว่า 3 ทศวรรษของอันวาร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสองสมัย ในยุครัฐบาลของ ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด และเคยได้รับการวางตัวจากอดีตผู้นำมาเลเซีย ให้เป็นทายาทการเมือง

กระนั้น อันวาร์เคยต้องต่อสู้กับคดีล่วงละเมิดทางเพศต่ออดีตผู้ช่วยชาย ยาวนานตั้งแต่ปี 1998และรับโทษจำคุกนาน 3 ปี จนได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อปี 2018โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อันวาร์และฝ่ายสนับสนุนยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด ว่าเป็น “การใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง”.

หากจะมองย้อนกลับไปก่อนหน้า ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองในมาเลเซีย จุดจับจ้องกลับไปอยู่ที่กษัตริย์แห่งมาเลเซีย ว่าจะทรงตัดสินพระทัยเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อไป หลังมาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับการเลือดตั้งถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คืออย่างน้อย 112 จาก 222 ที่นั่ง ส่งผลให้พันธมิตรพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แย่งกันช่วงชิงความสนับสนุนจากพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็ก ตลอดจนพันธมิตรการเมืองอื่น

ก่อนที่สุลต่าน อับดุลเลาะห์ อะห์หมัด ชาห์ จะตรัสเมื่อวันอังคาร ว่าพระองค์จะตัดสินพระทัย เลือกคนใดคนหนึ่ง ระหว่างอันวาร์ อิบรอฮิม และมูห์ยิดดิน ยัสซิน มาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียเคารพคำตัดสิน และการตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

นับเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีที่กษัตริย์มาเลเซียจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง โดยการแต่งตั้งตามพระราชวินิจฉัย 2 ครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 

📌 รู้จักกษัตริย์มาเลเซียองค์ปัจจุบัน 

มาเลเซียปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยกษัตริย์จะได้รับเลือกจากสมาชิกราชวงศ์ใน 9 รัฐ หมุนเวียนกันปกครองประเทศรัชสมัยละไม่เกิน 5 ปี สำหรับกษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ รีอายาตุดดิน อัล-มุซตอฟา บิลละฮ์ ซะฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม สุลต่าน ฮาจี อะฮ์มัด ชาฮ์ อัล-มุซตาอิน บิลละฮ์ แห่งรัฐปะหังทางตะวันออกของมาเลเซีย ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2019ขณะมีพระชนมายุ 59 พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 16 ของมาเลเซีย นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957

สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 16  ของมาเลเซีย มีคะแนนนิยมจากภาพลักษณ์ติดดินมาตั้งแต่เริ่มรัชกาล จากภาพที่พระองค์ทรงต่อแถวซื้อไก่ทอดเคเอฟซี และทรงให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางหลวง นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นนักกีฬามากความสามารถ ทรงเคยเป็นนักกีฬาตัวแทนของรัฐในการแข่งขันฟุตบอลเมื่อทรงพระเยาว์ และเป็นสมาชิกกรรมการบริหารฟีฟ่าและประธานสหพันธ์ฮอกกีแห่งเอเชียด้วย

📌 บทบาททางการเมืองของกษัตริย์มาเลเซีย

กษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียมีบทบาทในเชิงพิธีการเป็นส่วนใหญ่ แต่ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่พระองค์ทรงเชื่อว่าจะควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ที่ระบุในมาตรา 43 ของรัฐธรรมว่า สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจและพระราชวินิจฉัยโดยตรง ในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ในยามเกิดภาวะคับขัน

แม้ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซียจะให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ในอดีตที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้มีกษัตริย์พระองค์ใดใช้อำนาจดังกล่าว จนกระทั่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในปี 2020 หลังจากที่พรรคอัมโน (UMNO ) ซึ่งครองอิทธิพลทางการเมืองในมาเลเซียมาตลอดได้เสื่อมอำนาจลง จากคดีฉาวทุจริตกองทุน 1MDB ของอดีตนายกรัฐมนตรีนายิ๊บ รอซัค ผู้นำพรรค รวมถึงการเสื่อมถอยของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ หรือ บาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional – BN) ซึ่งเคยเรืองอำนาจในอดีต ทำให้ทิศทางการเมืองของมาเลเซียต้องตกอยู่ในสถานการณ์ไร้เสถียรภาพ จนนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอลาออกถึง 2 คน ส่งผลให้กษัตริย์ต้องทรงใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 

โดยครั้งแรก พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2020 หลังจากที่นายมหาเธร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลผสม ซึ่งการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น พระองค์ได้ร่วมประชุมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ 222 คน เพื่อเลือกว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลผสม 

ในเวลาต่อมา นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนในสภา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการจัดการกับโควิด-19 สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ได้ใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง นายอิสมาอิล ซอบรี ยะกู๊บ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 114 คน จากทั้งหมด 222 คนในสภา

อย่างไรก็ตาม การใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับสองครั้งก่อนหน้า เนื่องจากเกิดขึ้นหลังจากที่มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไป แต่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนมาเลเซียเข้าสู่ภาวะสภาแขวนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

📌 ดิ้นรนจากสภาพ “สภาแขวน”

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซียออกมาประกาศผลการเลือกตั้งในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ (20 พ.ย.) ทั้งกลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง หรือ ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan – PH) ซึ่งนำโดยนายอันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ หรือ เปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional – PN) ของนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรี ต่างออกมาประกาศชัยชนะ โดยมั่นใจว่าฝ่ายของตนจะสามารถรวมเสียงสนับสนุน สามารถตั้งรัฐบาลผสมได้

ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้สมเด็จพระราชาธิบดี อัออกแถลงการณ์กำหนดเส้นตายให้ทั้งสองกลุ่มรวบรวมพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายในช่วงบ่ายวันจันทร์ (21 พ.ย.) และขยายเวลาต่อมาถึงวันอังคาร (22 พ.ย.) แต่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ หลังจากที่กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ของนายอิสมาอิล ซาบรี ยะกู๊บ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ออกมาประกาศไม่สนับสนุนทั้ง PH และ PN พร้อมแสดงจุดยืนจะเป็นฝ่ายค้าน ทำให้สถานการณ์ยิ่งยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีก เพราะ BN ครองเสียงในสภาอยู่ถึง 30 เสียง ซึ่งเมื่อปราศจากเสียงเหล่านั้น ทำให้การตั้งรัฐบาลของทั้งสองกลุ่มแทบจะเป็นไปไม่ได้

การเลือกตั้งในมาเลเซียล่วงมาแล้ว 4 วัน แต่ยังคงไร้วี่แววที่จะตั้งรัฐบาลสำเร็จ แม้สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ได้ทรงแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ พระองค์จึงทรงเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกลุ่ม BN เข้าเฝ้าเป็นรายบุคคลเมื่อวานนี้ เพื่อชี้แจงว่าพวกเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างนายอันวาร์ อิบรอฮิม และนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน แต่ ส.ส. กลุ่ม BN ก็ขอเลื่อนการเข้าเฝ้าออกไปอีกเนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้

📌 อนาคตการเมืองต่อจากนี้

สำหรับการผ่าทางตันการเมืองมาเลเซียสำเร็จครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากบรรดาพรรคการเมือง รวมถึงพรรคอัมโน ศัตรูตัวฉกาจของอันวาร์และพีเอช ยอมรับข้อเสนอของกษัตริย์มาเลเซีย ที่ทรงเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยนับเป็นการกลับลำของกลุ่มเปริกาตัน นาซิออนนาล หรือพีเอ็น ที่รวมถึงพรรคอัมโนเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้ จากการที่ก่อนหน้านี้ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ประธานกลุ่มพีเอ็น เพิ่งปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า จะไม่สนับสนุนอันวาร์

ในฐานะนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบรอฮิม จะต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกทั้งยังต้องบรรเทาความตึงเครียดระหว่างพลเมืองต่างเชื้อชาติในมาเลเซียด้วย
หนึ่งในภารกิจสำคัญอันดับแรกๆ ของ อันวาร์ ก็คือการจัดสรรงบประมาณสำหรับปีหน้า และยังต้องเจรจาต่อรองกับกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาด้วย

สื่อคาดว่า ตัวเต็งที่จะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของอันวาร์ คือ มูฮัมหมัด ฮาซัน ผู้นำเบอร์ 2 ของพรรคอัมโน ส่วนรองนายกรัฐมนตรีอีกคน น่าจะมาจากกลุ่มกาบูงัน ปาร์ตี ซาราวัก หรือ จีพีเอส

📌 ปิดฉากยุคเรืองอำนาจของ BN

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญ นั่นคือยุคเรืองอำนาจของ BN ได้จบสิ้นอย่างแท้จริงแล้ว ในช่วงก่อนปี 2018 กลุ่ม BN เคยผูกขาดการบริหารประเทศและเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลมาเป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ หากแต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ BN กลับได้เพียง 30 ที่นั่ง ซึ่งน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

ด้านของซาฮิด ฮามิดิ ประธานพรรคอัมโน ที่เป็นทั้งผู้ผลักดันและตัวตั้งตัวตีให้มีการเลือกตั้ง เพราะหวังผลทางการเมืองที่จะตามมาหาก BN เป็นรัฐบาลในสมัยหน้า แม้ตัวซาฮิดจะยังรักษาเก้าอี้ในพื้นที่ฐานเสียงของตัวเองไว้ได้ แต่กลับมีคะแนนทิ้งคู่แข่งเพียงแค่ 348 คะแนนเท่านั้น อีกทั้งบุคคลสำคัญหลายคนของ BN ที่รวมถึง 3 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ยิ่งเมื่อดูในภาพรวมแล้ว BN ได้แค่ 9 ที่นั่งในยะโฮร์ และไม่ได้แม้สักที่นั่งเดียวในปะลิส เกดะห์ ปีนัง มะละกา กลันตัน และตรังกานู

ความหายนะครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับผู้นำอัมโน นับแต่การเลือกตั้งในปี 2018 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำความพ่ายแพ้มาสู่พรรคเก่าแก่ของประเทศถึง 2 ครั้ง 2 ครา นอกจากนี้ซาฮิด ฮามิดิ ก็ดูไม่เหมาะถือธงรบนำพรรคลงสนาม เพราะมีข้อกล่าวหาติดตัวเกี่ยวกับการทุจริต รับสินบน และฟอกเงินถึง 47 ข้อหา ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมาพรรคยังไม่สามารถปฏิรูปและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้หลุดพ้นจากวังวนของคอร์รัปชันได้ ทำให้อัมโนถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุด บวกกับความเอือมระอาของประชาชนต่อปัญหาคอร์รัปชัน ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ชาวมลายูจำนวนมากที่เคยเป็นฐานเสียงให้กับอัมโน โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมในแนวทางอิสลามหันไปเลือกกลุ่ม PN แทนในฐานะทางเลือกเดียวที่มีอยู่ 

📌 มหาเธร์ที่กลายเป็นเพียงตำนาน

การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นการปิดฉากทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ มูฮัมหมัด ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมาเป็นเวลารวมทั้งสิ้นถึง 24 ปี และถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย แต่การอำลานี้กลับไม่ได้สวยงาม หากเป็นความเสียหน้าและจุดด่างพร้อยในเส้นทางชีวิตการเมืองที่ไม่อาจลบเลือน หลังจากที่มหาเธร์พ่ายแพ้อย่างหมดท่าในลังกาวี ทั้งที่เคยยึดเก้าอี้นี้ไว้นานถึง 53 ปี 

ด้านมูคริซ ลูกชายของมหาเธร์เองก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน เหลือทิ้งไว้ก็เพียงตำนานการขับเคลื่อนประเทศแบบที่ใช้ตัวบุคคล (Personalization) และอำนาจรวมศูนย์ แทนที่สถาบันทางการเมืองในช่วงครองอำนาจของมหาเธร์ ตลอดจนเรื่องเล่าขานถึงความสำเร็จ เช่น Vision 2020 และ Look East Policy หรือแม้แต่การผลักดันประเทศให้ก้าวจากเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม ตลอดจนความพยายามในการปลูกปั้นโปรตอน (Proton) บริษัทผลิตรถยนต์แห่งแรกของประเทศให้ก้าวขึ้นสู่ระดับภูมิภาค และสำคัญที่สุดคือนโยบาย New Economic Policy (NEP)

ที่แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายทศวรรษว่าไม่เคยประสานรอยร้าวระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ให้ดีขึ้น ซ้ำร้ายทำให้การเมืองเรื่องชาติพันธุ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองมาเลเซียอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทว่านโยบายนี้กลับได้รับการสานต่อจากรัฐบาลทุกชุดจวบจนถึงปัจจุบัน

📌 การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ที่ไม่เลือนหาย

การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อประชาชนในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกกลุ่มพันธมิตร และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ในด้านของกลุ่มผู้ลงคะแนนโดยเฉพาะชาวมลายูชี้ให้เห็นว่า ถึง BN และ PN จะสร้างภาพลักษณ์เป็นกลุ่มตัวแทนของชาวมาเลย์มุสลิมเหมือนกัน แต่กลุ่ม PN ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่แทนที่อัมโน แม้พรรค Bersatu ของมูห์ยิดดินที่เป็นแกนนำใน PN จะดูเหมือนเป็นพรรคอวตารของอัมโน แต่ก็ไม่เคยแปดเปื้อนกับปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งยังคงภาพลักษณ์ที่ใสสะอาดอยู่

การจัดตั้งรัฐบาลพันธมิตรก็แสดงให้เห็นถึงการเมืองเรื่องชาติพันธุ์ด้วยเช่นกัน เมื่อกลุ่ม PN โดยเฉพาะพรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) พรรคพันธมิตรของ PN มีจุดยืนที่จะทำงานร่วมกับพรรคที่เป็นตัวแทนของชาวมลายู หรือพรรคที่ไม่ใช่ชาวมลายูแบบสุดโต่ง นั่นหมายถึงการหันหลังให้กับ PH อย่างสิ้นเชิง เพราะ PH มีภาพของความเป็นเสรีนิยมมากเกินไปและมองว่าถูกครอบงำโดยกลุ่มชาวจีน

การเมืองเรื่องชาติพันธุ์จะเห็นชัดเจนมากขึ้น หากนำจำนวนที่นั่งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาวางเปรียบเทียบกัน ซึ่งพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุดใน คือพรรค PAS ได้ไปถึง 48 ที่นั่ง เป็นความน่าสนใจอย่างมาก เพราะพรรค PAS เป็นพรรคอนุรักษนิยมตามแนวทางศาสนาอิสลาม และที่ผ่านมาพรรคเป็นที่นิยมอยู่เพียงในกลุ่มชาวมลายูมุสลิมในตรังกานู กลันตัน ปะลิส และเกดะห์ ที่สำคัญกว่านั้น จากอดีตพรรคไม่เคยได้ ส.ส. เกิน 25 ที่นั่ง แต่ปรากฏการณ์ที่คะแนนนิยมหลั่งไหลมาให้พรรคในครั้งนี้ ทำให้ไม่อาจละเลยได้ว่าการเมืองอิสลามกำลังกลับเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในการเมืองมาเลเซีย 

และเมื่อ PAS เป็นส่วนสำคัญในชัยชนะของ PN ก็อาจแปลความได้ว่า PN ภายใต้การนำของมูห์ยิดดินได้รับความไว้วางใจจากประชาชนโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิม และคนกลุ่มนี้ยังคงสนับสนุน Affirmative Action Policy อันเป็นนโยบายที่เกื้อหนุนชาวมาเลย์มุสลิมและชาวภูมิบุตร ในทางตรงกันข้ามก็ชี้ให้เห็นว่า PH ยังไม่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของชาวมลายูมุสลิมได้

สิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าจะส่งผลต่อการวางแนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ความมั่นคง และการเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเรียกคะแนนและขยายความนิยมเข้าไปในคนกลุ่มนี้ เพราะจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างที่ไม่ต้องคาดเดา

ที่มา :

workpointtoday : https://workpointtoday.com/political-role-of-malaysias-king-choosing-next-pm/

bangkokbiznews : https://www.bangkokbiznews.com/world/1039509

thestandard : https://thestandard.co/malaysia-election/?fbclid=IwAR3sF3OwlQbqZqG21DhDGIXk488OPWLL3wedgTYaXfKNtFhcpclm2HAZ5Yg

dailynews : https://www.dailynews.co.th/news/1717220/

tnnthailand : https://www.tnnthailand.com/news/world/131480/

mgronline : https://mgronline.com/around/detail/9650000112123

matichon : https://www.matichon.co.th/foreign/news_3691929

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ