White Channel

ปาเลสไตน์ : ประวัติศาสตร์และวันข้างหน้า EP3

ปาเลสไตน์ : ประวัติศาสตร์และวันข้างหน้า

ตอนที่ 3  กำเนิดรัฐอิสราเอลและการต่อต้าน

 

*********************************************

 

การล่มสลายของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺที่ตุรกี ในปี ค.ศ.1924 เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบร้ายแรงและใหญ่หลวงต่อประชาชาติอิสลามทั่วทุกมุมของโลก เมื่อถึงเวลาที่มุสลิมไร้ผู้นำ ปาเลสไตน์ไม่มีผู้ดูแล

 

คำประกาศบัลโฟร์

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1799 นาโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ได้นำชาวยิวจำนวน 5,000 คน ไปอาศัยอยู่ที่ปาเลสไตน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ผู้ปกครองของอาณาจักรอิสลามที่ดูแลแผ่นดินในภูมิภาคนี้

ต่อมาในปี ค.ศ.1897 เกิดการประชุมระดับนานาชาติของยิวไซออนิสต์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้การนำของ ทูโดร์ เฮิรตซ์ (Tudor Heartz) และมีมติสร้างรัฐยิวขึ้นมาบนแผ่นดินปาเลสไตน์ พวกเขาวางแผนและพยายามผนวกแผนการของตนเข้ากับแผนล่าอาณานิคมของตะวันตก ซึ่งขณะนั้นมีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร แต่เพราะไม่สามารถหาผู้สนับสนุนแผนการของตนได้ พวกเขาจึงล้มเหลว

แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ระหว่างปี ค.ศ.1914-1918) อังกฤษได้ทำสัญญา 3 ฝ่าย ได้แก่ สัญญากับฝรั่งเศสและรัสเซีย เกี่ยวกับการแบ่งเขตพื้นที่หลังชนะสงคราม, สัญญากับกษัตริย์ชะรีฟ ฮุซเซน แห่งมักกะฮฺ ให้ช่วยสร้างความอ่อนแอแก่คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺในภูมิภาคอาหรับด้วยกระแสชาตินิยม  และสัญญากับยิวไซออนิสต์ ให้ล็อบบี้อเมริกาเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษทำสงครามกับเยอรมัน โดยแลกกับการยกแผ่นดินปาเลสไตน์ให้ ซึ่งต่อมาเราเรียกสัญญานี้ว่า “คำประกาศหรือสนธิสัญญาบัลโฟร์” (Balfour declaration)

 

เหตุการณ์หลังคิลาฟะฮฺล่มสลาย

สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ สนธิสัญญาบัลโฟร์ถูกบังคับใช้ ชาวยิวทั้งในยุโรปและรัซเสียแห่กันอพยพเข้ามาในแผ่นดินปาเลสไตน์ได้อย่างง่ายได้ ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษ (ปี พ.ศ.1922) ยิวไซออนิสต์ก็ได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินนี้จนมีกองกำลังเป็นของตนเอง

เพราะความอ่อนแอภายในที่สะสมมา บวกความเสียหายจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และแผนการณ์ชั่วร้ายที่แยบยลของอังกฤษและไซออนิสต์ สุดท้ายปี ค.ศ.1924 คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺก็ถึงคราวล่มสลาย นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม ที่ประชาชาติอิสลามไร้คิลาฟะฮฺคุ้มครอง

4 ปีหลังการล่มสลายของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ (ปี ค.ศ.1928) กลุ่มอิควานมุลิมีนก็ถูกก่อตั้งขึ้นที่อียิปต์ โดยมี หะสัน อัลบันนา และเพื่อนๆไม่กี่คนร่วมก่อตั้งขึ้น ขณะนั้นอียิปต์เป็นประเทศภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ

หะสัน อัลบันนา เริ่มเคลื่อนไหวเชิญชวนผู้คนสู่ศาสนา ตื่นตัวเรื่องอิสลาม และปลุกไฟการฟื้นฟูคิลาฟะฮฺอิสลาม ในช่วงแรกเริ่มกลุ่มอิควานเผยแผ่งานดะอฺวะฮฺของพวกเขาผ่านงานบรรยายและกิจกรรมการกุศล ต่อมาการเคลื่อนไหวของพวกเขาก็ยกระดับสูงขึ้น และเริ่มเข้าสู่สนามการเมืองและการปกครอง

กลุ่มอิควานมีสำนักงานมากกว่า 2,000 สาขาทั่วอียิปต์ และมีสมาชิกของกลุ่มมากถึง 2 ล้านคน การเคลื่อนไหวทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้พวกเขาได้รับการตอบรับไม่ใช่เฉพาะในอียิปต์ แต่รวมถึงประเทศอาหรับอื่นๆในตะวันออกกลางด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ประชาชนชาวปาเลสไตน์ได้เริ่มลุกขึ้นต่อสู้กับฝ่ายอังกฤษ อุละมาอ์ออกฟัตวาห้ามขายที่ดินให้กับชาวยิว เกิดการต่อสู้หลายครั้งในช่วงปี ค.ศ.1929-1939 จนกระทั่งยิวไซออนิสประกาศตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นบนแผ่นดินปาเลสไตน์ในปี ค.ศ.1948 เป็นฉนวนให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล

กลุ่มอิควานซึ่งมีกำลังนักรบของตนเอง พวกเขาได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในฝ่ายสันนิบาตอาหรับในสงครามครั้งนี้ อิควานเป็นเพียงองค์กรดะอฺวะฮฺองค์กรเดียวที่ส่งนักรบเข้าร่วมกองทัพฝ่ายสันนิบาติอาหรับ เข้าช่วยเหลือพี่น้องชาวปาเลสไตน์ต่อสู้กับกองกำลังยิวไซออนิสต์ จนพวกเขาถูกมองว่าเป็นภัยร้ายต่อรัฐบาลอียิปต์

และด้วยการสมรู้ร่วมคิดระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ต่อมาพวกเขาถูกแบนและแกนนำก็ถูกจับกุมตัว สำนักงานต่างๆถูกสั่งปิด และทรัพย์สินของกลุ่มก็ถูกยึดให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกิจการภายใน และพวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อประเทศ

ในยุคประธานาธิบดีนัสเซอร์ กลุ่มอิควานถูกปราบปรามหนักขึ้น แกนนำและสมาชิกของกลุ่มถูกจับจำนวนมาก  และสุดท้ายตัวหะสัน อัลบันนา ผู้นำกลุ่มก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิตในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1949

สืบเนื่องจากสงครามครั้งนี้ มีประชาชนชาวปาเลสไตน์ถูกขับออกจากบ้านเรือนของพวกเขาประมาณ 800,000 คน (คิดเป็น 60% ของประชาชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด) เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อว่า นักบะฮฺ หมายถึง ภัยพิบัติครั้งใหญ่ และหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ชาวยิวประมาณ 700,000 คน ได้อพยพก็ได้อพยพเข้ามาแทน

กว่า 470 หมู่บ้านถูกทำลาย และเกิดการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 30 ครั้ง ตลอดช่วงเกิดเหตุการณ์นักบะฮฺ หนึ่งในครั้งที่โหดร้ายที่สุดคือ “โศกนาฏกรรมที่ดีรยาซีน (หมู่บ้านชาวปาเลสไตน์ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเยรูซาเล็มปัจจุบัน ไกลออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร) มีชาวปาเลสไตน์ถูกฆ่าในเหตุการณ์นี้ 254 คน ซึ่งรวมถึงคนแก่ ผู้หญิง และเด็กๆ 52 ชีวิต

 

กำเนิดขบวนการต่อต้านอิสราเอล

สหประชาชาติได้เข้ามาดูแลปัญหาและมีมติ (ซึ่งไม่ยุติธรรม) แบ่งแผ่นดินปาเลสไตน์ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งกินพื้นที่ถึง 60% เป็นของรัฐยิว (ซึ่งมีประชากรเพียง 30% ของจำนวนคนทั้งหมดที่นั่นในตอนนั้น) และอีกส่วนเป็นของรัฐอาหรับ ส่วนบัยตุลมักดิส (หรือเรียกว่า เยรูซาเล็ม) ให้เป็นเขตปกครองพิเศษ อยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ

ชาวยิวไม่ได้สนใจมติของสหประชาชาติเลย พวกเขายังคงขยายอาณาเขตของตัวเองออกไปจนทั่วแผ่นดินปาเลสไตน์ ตั้งแต่ภูเขาซีนายจนถึงที่ราบสูงโกลาน พวกเขาวางแผนที่จะสถาปนา The Great Israel ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่แผ่นดินปาเลสไตน์ อีรัค และเมืองมะดีนะฮฺ

ในปี ค.ศ.1957 ยัสเซอร์ อารอฟัต ได้ก่อตั้ง “กลุ่มอัลฟัตตาหฺ” เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “PLO” (องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรัฐปาเลสไตน์เอกราช ในช่วงปี ค.ศ.1967-1970 ได้เกิดสงครามระหว่างปาเลสไตน์ตะวันออกกับอิสราเอล และอิสราเอลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สงครามครั้งนี้ถูกเรียกว่า สงครามกะรอมะฮฺ

แต่ในปี ค.ศ.1978 อันวาร ซาดัต เป็นประธานาธิบดีอียิปต์ ได้ทำสัญญากับอิสราเอล อิสราเอลยอมถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ แลกกับรัฐอิสราเอลได้รับการยอมรับ เกียรติของชาวอาหรับถูกดูหมิ่นอย่างรุนแรง และการสังหารอันวาร ซาดัต ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่าประชาชาติอิสลามไม่พอใจต่อสัญญาดังกล่าว

ในปี ค.ศ.1987 PLO ของยัสเซอร์ อารอฟัต ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวขององค์การ จากการต่อสู้มาเป็นการเจรจาต่อรอง และในปีเดียวกันนั้น “กลุ่มฮามาส” ก็ได้ต้องก่อตั้งขึ้นโดย เชคอะหมัด ยาซีน ซึ่งเป็นอุละมาอ์ ฮามาสสืบทอดอุดมการณ์มาจากกลุ่มอิควานมุสลิมีน มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อยุติการยึดครองทางทหารของอิสราเอล ส่วนความมุ่งหมายที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ การสร้างรัฐปาเลสไตน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนแผ่นดินเดิมก่อนที่จะเป็นรัฐอิสราเอล พวกเขาเป็นผู้จุดกระแสอินติฟาเฎาะฮฺหรือ การลุกฮือต่อต้านอิสราเอลนั่นเอง

ฮะมาสได้สร้างความนิยมในหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ยากจน ด้วยการจัดหาความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์ทางศาสนา และที่แตกต่างจากกระบวนการทางการเมืองปาเลสไตน์อื่นๆนั่นคือ ฮะมาสไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ของยัสเซอร์ อารอฟัต และต่อต้านการเซ็นสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล แม้จะเคยทำสัญญาพักรบกับอิสราเอลหลายครั้งก็ตาม

ฮามาสได้ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนว่าจะขัดขืนและตอบโต้ขบวนการยิวไซออนิสต์เป็นหลัก พวกเขามองว่าสัญญาสันติภาพออสโลระหว่างยิวและอาหรับเป็นการยอมแพ้ต่อเงื่อนไขของยิวไซออนิสต์ และ PLO ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์อีกต่อไป

สงครามอ่าวอาหรับระหว่างอีรัคกับอิหร่านที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1980-1988 และระหว่างอีรัคกับคูเวตและอเมริกาในช่วงปี ค.ศ.1990-1991 ทำให้เงินทุนสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับจากประเทศอาหรับต่างๆหยุดชะงัก

แผ่นดินปาเลสไตน์ยุคไร้คิลาฟะฮฺ ขาดผู้ปกป้องคุ้มครอง ประชาชนชาวปาเลสไตน์ต้องดิ้นรนต่อสู้กันเอาเอง ท่ามกลางความอ่อนแอของผู้นำประเทศมุสลิม และการเฉยเมยของผู้นำและประชาคมโลก

 

ติดตามตอนต่อไป

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ