ซุนนะฮฺในวันอีด ตามหลักฐานจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือ
1. ให้แต่งกายอย่างสวยงาม ใช้เสื้อผ้าที่พิเศษ
ท่านนบี จะมีชุดพิเศษสำหรับวันศุกร์และสำหรับต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมท่าน ในบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺ..
ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ได้เห็นเสื้อผ้าชุดหนึ่งขายในตลาดก็ได้แนะนำท่านนบี ว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ซื้อตัวนี้สิครับ ท่านจะได้สวมเสื้อสวยๆในวันอีดและเมื่อมีแขกมาเยี่ยมท่าน —
จากหะดีษบทนี้แสดงว่าเป็นที่รู้กันในบรรดามุสลิมีนสมัยนั้นว่า ให้เตรียมชุดที่สวยงามไว้สำหรับวันอีด และท่านนบี ก็ไม่ได้ปฏิเสธ
อิมามมาลิกบอกว่าฉันได้ยินว่าบรรดาผู้รู้จะแต่งตัวดีและใส่น้ำหอมในวันอีด
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร (เศาะฮาบะฮฺ) เมื่อถึงวันอีดจะเลือกเสื้อผ้าที่สวยที่สุดมาสวม
ถ้าไม่มีเสื้อผ้าใหม่ๆ ก็ให้เลือกเสื้อผ้าที่ซักรีดอย่างดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการที่เราแต่งตัวดีกว่าวันอื่นเพราะเราให้ความสำคัญกับวันนี้
2. อาบน้ำซุนนะฮฺ
ในวันอีดไม่มีแบบอย่างจากท่านนบี ว่าได้กระทำ (ที่มีหลักฐานคือท่านนบีจะอาบน้ำซุนนะฮฺวันศุกร์) แต่มีหลักฐานจากการปฏิบัติของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ เช่น ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร และเป็นที่รู้กันของเศาะฮาบะฮฺส่วนมาก
3. ห้ามถือศีลอดในวันอีด
ถ้าถือศีลอดในวันนี้ถือว่าโมฆะและเป็นการทำสิ่งที่ชั่วร้าย มีหะดีษบันทึกโดยอิมามบุคอรียฺ ท่านนบี กล่าวว่า
«لا صوم في يومين: الفطر والأضحى » .
ความหมาย “ไม่มีการถือศีลอดในสองวัน : คืออีดุ้ลฟิฏรฺและอีดุ้ลอัฎฮา”
อิมามอันนะซาอียฺ กล่าวว่าอุละมาอฺมีมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในวันอีดนั้นห้ามโดยเด็ดขาด
4. การรับประทานอาหารก่อนละหมาดอีด
สำหรับอีดุ้ลฟิฏร ให้รีบทานอาหารก่อนไปละหมาด ส่วนอีดุ้ลอัฎฮา รอจนละหมาดอีดเสร็จแล้ว จึงรับประทานเนื้อกุรบานก่อน
في صحيح البخاري ، عَنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ رضي الله عنه قَالَ
: ” كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَا يَغْدُو يَوْمَ الْفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلَ تَمَرَاتٍ” .
ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านอนัส อิบนุมาลิก ว่า
“ท่านนบี จะไม่ออกไปในวันอีดิ้ลฟิฏรฺ จนกว่าจะได้รับประทานอินทผลัมหลายเม็ด (โดยจะรับประทานเป็นจำนวนคี่ (3/5/7 เม็ด))”
فعن بريدة -رضي الله عنه- قال: كان النبي صلى الله عليه وسلم لا يخرج يوم الفطر حتى يَطعم،
ولا يطعم يوم الأضحى حتى يصلي .الترمذي.
และในบันทึกของอิมามอัตติรมิซียฺ เชคอัลบานียฺว่าเศาะฮี้ฮฺ จากรายงานของท่านบุร็อยดะฮฺว่า
“ท่านนบี จะไม่ออกไปในวันอีดุ้ลฟิฏรฺจนกว่าจะได้รับประทานอาหาร และท่านจะไม่กินอะไรเลยในวันอีดิ้ลอัฎฮา จนกว่าจะละหมาด (จึงจะรับประทานอาหาร (เนื้อกุรบาน))”
5. ละหมาดอีด
อุละมาอฺส่วนมากเห็นว่าเป็นซุนนะฮฺมุอั๊กกะดะฮฺ (ชอบให้กระทำ) บางท่านก็ว่าเป็นฟัรดูอัยนฺเพราะท่านนบีรณรงค์ให้ละหมาดอีด แม้กระทั่งผู้หญิงที่มีประจำเดือน,คนชรา, หญิงสาวที่มีความอายไม่ชอบออกข้างนอก ก็ให้ออกไปร่วมด้วย
عَنْ أُمِّ عَطِيَّةَ رضي الله عنها أنها قَالَتْ : أَمَرَنَا رَسُولُ اللَّهِ أَنْ نُخْرِجَهُنَّ فِي الْفِطْرِ وَالْأَضْحَى ، الْعَوَاتِقَ وَالْحُيَّضَ وَذَوَاتِ الْخُدُورِ ، فَأَمَّا الْحُيَّضُ فَيَعْتَزِلْنَ الصَّلَاةَ وَيَشْهَدْنَ الْخَيْرَ وَدَعْوَةَ الْمُسْلِمِينَ ، قُلْتُ يَا رَسُولَ اللَّهِ إِحْدَانَا لَا يَكُونُ لَهَا جِلْبَابٌ ؟ قَالَ :«لِتُلْبِسْهَا أُخْتُهَا مِنْ جِلْبَابِهَا» .
ท่านนบี กล่าวว่า “สำหรับหญิงที่มีประจำเดือนให้แยกตัวออกจากการละหมาด แต่ให้ไปร่วมในบริเวณที่ละหมาด เพื่อจะได้รับความดี” อุมมุอะฏียะฮฺถามว่า “คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเราบางครั้งไม่มีหิญาบเพื่อจะออกข้างนอก จะทำอย่างไร” ท่านนบี ตอบว่า “ให้ยืมจากพี่น้อง(เพื่อจะไปละหมาดอีด)” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการละหมาดอีด ท่านอิบนุตัยมียะฮฺมีทัศนะว่าผู้หญิงจำเป็น(วาญิบ)ต้องออกไปละหมาดอีด โดยอ้างอิงจากคำกล่าวของท่านอบูบักร อัศศิดดี๊ก
6. ละหมาดอีดที่มุศ็อลลา
ลักษณะมุศ็อลลาเป็นที่โล่งในทะเลทรายไม่มีอาคารใกล้ๆ ตลอดชีวิตของท่านนบีไม่เคยละหมาดอีดที่มัสญิด (ยกเว้นครั้งเดียวที่ฝนตกท่านนบีได้ละหมาดที่มัสญิด ซึ่งเป็นหะดีษฎออีฟ)
ท่านละหมาดที่มุศ็อลลาทุกครั้ง อันเป็นซุนนะฮฺที่ถูกละเลยในปัจจุบัน แต่ทุกช่วงของประวัติศาสตร์อิสลามก็จะมีผู้ฟื้นฟูซุนนะฮฺอยู่เสมอ แม้ว่าในซาอุดิอาระเบียจะปฏิบัติตามซุนนะฮฺนี้มาตลอด แต่ประเทศอาหรับอื่นๆกลับละทิ้ง
ผู้ฟื้นฟูท่านแรกคือเชคอัลบานียฺซึ่งอยู่ที่ซีเรีย (ท่านเป็นช่างซ่อมนาฬิกา สมญานามท่านคือ อัซซาอะฮฺ ท่านจะเปิดร้านนาฬิกาครึ่งวันเช้า พอบ่ายก็จะไปอยู่ที่ห้องสมุดเมืองดิมัชกฺ เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือโบราณตั้งแต่สมัยอิมามอัลบุคอรียฺ อิมามมุสลิม ฯลฯ เป็นตำราโบราณเกี่ยวกับหะดีษ ใช้ภาษาอาหรับโบราณ ไม่มีจุด
เชคอัลบานียฺเป็นคนแรกที่เข้ามาจัดระเบียบห้องสมุดแห่งนี้) ท่านถูกต่อต้านและต่อว่าที่ไปละหมาดอีดที่มุศ็อลลาซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครทำ ท่านจึงได้เขียนหนังสืออัซซุนนะฮฺให้ละหมาดที่มุศ็อลลา มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซุนนะฮฺการละหมาดอีดที่มุศ็อลลาจึงได้รับการฟื้นฟูทั่วโลก
7. ให้เดินไปสู่มุศ็อลลา (สถานที่โล่ง ไม่มีอาคาร)
เมื่อก่อนมะดีนะฮฺเป็นเมืองเล็กๆ ขนาดเท่ากับมัสญิดนบีในปัจจุบัน มุศ็อลลาสมัยท่านนบี ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองมะดีนะฮฺ ท่านนบีจะเดินออกจากบ้านไปมุศ็อลลาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่าน หลักฐานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร ว่า ท่านนบี จะออกไปสู่มุศ็อลลา และขากลับท่านจะเดินหากทำได้ (หรือจะขี่พาหนะก็ได้)
8. ให้สลับเปลี่ยนทางเดินขาไปและขากลับจากมุศ็อลลา
คือไปทางหนึ่งกลับอีกทางหนึ่ง
في صحيح البخاري عَنْ جَابِرِ بْنِ عَبْدِ اللَّهِ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا قَالَ : “كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا كَانَ يَوْمُ عِيدٍ خَالَفَ الطَّرِيقَ “.ولعل العلة أن يقابل عدداً كبيراً من أصحابه بذلك [زاد المعاد (1/449
มีหะดีษบันทึกโดยอิมามอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านญาบิร อิบนิอับดิลลาฮฺ ว่า
ท่านนบี จะเดินทางในวันอีดโดยจะเปลี่ยนทางเดินขากลับ – อุละมาอฺให้เหตุผลว่า เพื่อที่ท่านนบีจะได้ให้สลามกับผู้ที่อยู่ในเส้นทางทั้งสองนั้น เป็นการพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมให้ทั่ว, หรือเพื่อเปิดเผยกิจกรรมของศาสนาให้คนทั่วไปทราบว่านี่เป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองของมุสลิม,
หรือเพื่อที่สถานที่ต่างๆที่เราผ่านไปจะเป็นสักขีพยานแก่เรา เหล่านี้เป็นทัศนะของอุละมาอฺที่ได้จากการตีความ ไม่มีตัวบทหลักฐานจากท่านนบี
9. การกล่าวตักบีร
เป็นซุนนะฮฺของท่านนบี ที่ให้ตักบีรในสองอีด สำหรับอีดุ้ลอัฎฮาเศาะฮาบะฮฺเริ่มตักบีร (และซิกรุลลอฮฺ) ตั้งแต่วันแรกของซุลฮิจญะฮฺ เป็นการตักบีรทั่วไป(ตักบีรมุฏลัก) ตักบีรเมื่อใดก็ได้ไม่ใช่เฉพาะหลังละหมาด
ส่วนตักบีรเฉพาะอีด(ตักบีรมุก็อยยัด)จะเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดซุบฮิวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ (วันอะเราะฟาต) ตักบีรเสียงดังหลังละหมาดทุกเวลา จนถึงหลังละหมาดอัสริวันที่ 13 ซุลฮิจญะฮฺ รวมห้าวัน
และให้กล่าวตักบีรทั่วไปตั้งแต่ออกจากบ้านในวันอีดจนกระทั่งถึงมุศ็อลลา ให้ตักบีรตลอดเวลา ทั้งเสียงดังและเบา หยุดตักบีรเมื่อเริ่มละหมาดอีด
10. สำนวนตักบีร – มีหลายสำนวน
1- จากการบันทึกของอิมามอิบนุอบีชัยบะฮฺ เชคอัลบานียฺตรวจสอบและว่าสายสืบเศาะฮี้ฮฺ
كان ابن مسعود رضي الله عنه يقول : اللَّهُ أَكْبَرُ اللَّهُ أَكْبَرُ ، لَا إلَهَ إلَّا اللَّهُ ، وَاَللَّهُ أَكْبَرُ اللَّهُ أَكْبَرُ وَلِلَّهِ الْحَمْدُ [ابن أبي شيبة] .
ในวันอีดท่าน(อิบนิมัสอู๊ด)จะตักบีรว่า
“อัลลอฮุอักบะรุลลอฮุอักบัร (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) ลาอิลาหะอิลลัลลอฮุ วัลลอฮุอักบัร(ไม่มีพระเจ้าใดนอกจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) อัลลอฮุอักบัร(อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) วะลิลลาฮิลฮัมดฺ(การสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ)” มีอีกรายงานหนึ่งที่เพิ่มตักบีรเป็น 3 ครั้ง ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ทั้งสองแบบ
2- จากท่านอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านเคยตักบีรว่า
وعن ابن عباس رضي الله عنهما :” الله أكبر ، الله أكبر ، الله أكبر ، ولله الحمد ، الله أكبر وأجل ، الله أكبر على ما هدانا” [البيهقي[
“อัลลอฮุอักบะรุลลอฮุอักบัร (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกรยิ่ง) อัลลอฮุอักบัร วะลิลลาฮิลฮัมดฺ (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกรยิ่ง การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ) อัลลอฮุอักบะรุวะอะญัล (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่) อัลลอฮุอักบะรุอะลามาหะดานา (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกรเนื่องจากว่าอัลลอฮฺทรงให้ทางนำแก่เรา)” (บันทึกโดยอิมามอัลบัยหะกียฺ เชคอัลบานียฺบอกว่าสายสืบเศาะฮีฮฺ)
ตักบีรแล้วให้รำลึกถึงความหมายด้วยว่าอัลลอฮฺยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าหลงไปกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวสวยงาม, การเชือดกุรบาน(อุฎหิยะฮฺ) ซึ่งเรากระทำด้วยความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ
อัลลอฮฺทรงบัญชาให้เราทำเนื่องจากการเชือดของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ที่ถูกทดสอบให้เชือดลูกของท่านและท่านก็ยอมที่จะกระทำตามบัญชา เพราะอัลลอฮฺยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน บิดามารดา สถาบัน ฯลฯ และเราก็ต้องกลับมาทบทวนว่าชีวิตของเรามีอะไรยิ่งใหญ่กว่าอัลลอฮฺหรือไม่
11. การให้พรแก่พี่น้อง
ซึ่งไม่มีรูปแบบจากท่านนบีว่าเป็นแบบใด แต่มีจากเศาะฮาบะฮฺที่ใช้สำนวนว่า
تَقَــبَّــلَ اللهُ مِنَّا وَمِــنْــكُم
“ตะก๊อบบะลัลลอฮุ มินนาวะมินกุม”
ขอให้อัลลอฮฺทรงตอบรับ (การงานที่เราได้ปฏิบัติในเดือนรอมฎอน(สำหรับอีดุ้ลฟิตรฺ)และในสิบวันแรกของซุลฮิจญะฮฺ(สำหรับอีดุ้ลอัฎฮา)) จากพวกเราและพวกท่าน
เป็นคำอวยพรให้อัลลอฮฺตอบการงานของเราหลังจากที่เราขยันปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างมากมายในช่วงก่อนหน้านี้(คือเดือนรอมฎอนและสิบวันแรกของซุลฮิจญะฮฺ) และเป็นการแสดงความปีติยินดี ความสนุกสนานในสิ่งที่หะล้าล(ไม่ผิดหลักการ)
12. การเชือดกุรบาน(อุฎหิยะฮฺ) – สำหรับอีดิ้ลอัฎฮา
- ให้เชือดหลังละหมาดอีดเมื่ออิมามให้สลามแล้ว(ซุนนะฮฺของท่านนบี เมื่อละหมาดแล้วท่านนบีจะเชือดกุรบานของท่านเองก่อน) ไม่อนุญาตให้เชือดก่อนละหมาดหรือขณะละหมาด และในทัศนะที่ถูกต้องให้อิมามเชือดกุรบานของตนเองก่อน(ตามแบบอย่างของท่านนบี )
- เชือดได้ตั้งแต่หลังละหมาดอีด (10 ซุลฮิจญะฮฺ) จนถึงเข้าเวลาละหมาดอัสริของวันที่ 13 ซุลฮิจญะฮฺ
- เชือดกลางวันดีกว่ากลางคืน
- มารยาทในการเชือด
- หันหน้าไปทางกิบลัต, ให้สัตว์นอนแล้ววางเท้าขวาบนคอสัตว์ที่จะเชือด
- เชือดด้วยมือขวา
- การลับมีด – ลับให้คมมากเพื่อสัตว์จะได้ไม่ทรมานและอย่าลับมีดต่อหน้าสัตว์
- ให้จับสัตว์นอนโดยไม่ทรมาน ไม่ให้ทรมานสัตว์ เช่น ทุบหัว, ใช้ไฟฟ้าช็อต หรือตีให้เจ็บก่อนล้ม
- เชือดโดยตัดเส้นเลือดใหญ่ทั้งสอง หลอดลมและหลอดอาหาร แต่อย่าให้คอขาด (วิธีนี้จะทำให้เลือดสัตว์ออกจากตัวมากที่สุด)
- คำกล่าวขณะเชือด
” بسم الله บิสมิลลาฮฺ” โดยเหนียตว่าสัตว์นี้เป็นกุรบานของใคร (ไม่จำเป็นต้องกล่าวชื่อทุกคน)
ท่านนบี เคยเชือดสัตว์สองตัวโดยกล่าวว่า “สัตว์นี้สำหรับมุฮัมมัดและครอบครัวของมุฮัมมัด” เศาะฮาบะฮฺเคยเชือดตัวเดียวสำหรับหนึ่งครอบครัว หรือกล่าว اللهم هذا منك ولك (อัลลอฮุมมะ ฮาซามินกะ วะอิลัยกะ)โอ้อัลลอฮฺสัตว์ตัวนี้มาจากอัลลอฮฺ(เป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮฺให้แก่เรามา) และจะกลับยังพระองค์ (คือเราเชือดเพื่ออัลลอฮฺและเป็นผลบุญที่อัลลอฮฺทรงให้กับเรา)
- การแจกเนื้อ ตามทัศนะของอุละมาอฺส่วนมากให้แบ่งสามส่วน – ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินเอง, ส่วนที่สองให้ฮะดียะฮฺ, ส่วนที่สามให้เศาะดะเกาะฮฺ แต่ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดตามนี้ จะแบ่งสองส่วนหรือจะแจกทั้งหมดก็ได้ ท่านนบี จะรับประทานนิดหน่อยแล้วที่เหลือก็แจก
ที่มา – เว็บอิสลามอินไทยแลนด์ – บทความซุนนะห์ในวันอีด
– http://www.islaminthailand.org/dp6/story/1567
– http://www.islaminthailand.org/dp6/book/1580
– http://www.islaminthailand.org/dp6/book/1582